ชีวประวัติพระอาจารย์ลี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เวลา ๒๑.๐๐ น เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๓๑ ม.ค. พ.ศ ๒๔๔๙ บ้านเกิดคือ บ้านหนองสองห้อง ต. ยางโยภาพ อ. ม่วงสามสิบ จ. อุบลราชธานี หมู่บ้านนี้มีบ้านประมาณ ๘๐ หลังคาเรือน แบ่งออกเป็น ๓ คุ้ม คือหมู่บ้านน้อยหนึ่ง หมู่บ้านในหนึ่ง และ หมู่บ้านนอกหนึ่ง ที่หมู่บ้านนอกนี้มีวัดตั้งอยู่ พระอาจารย์ลีได้ เกิดในหมู่บ้านที่มีวัดตั้งอยู่ บ้านทั้ง ๓ คุ้มนี้มีหนองน้ำอยู่ตรงกลาง ๓ หนอง บริเวณรอบๆ หมู่บ้านมีต้นยางใหญ่ขึ้นอยู่ล้อมรอบนับเป็นสิบๆ ต้น ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านมีเนินบ้าน เก่าๆ มีพระอุโบสถร้างๆ ๒ แห่ง ปรากฏว่าผีดุมาก บางคราวถึงกับมาพาเอาคนไปอยู่ที่ศาลเจ้า สังเกตดูรู้สึกว่าจะเป็นฝีมือของขอมเป็นผู้สร้างขึ้น
นามเดิมของพระอาจารย์ลีคือ นายชาลี เป็นบุตรของนายปาว ยายพ่วย นารีวงศ์ ปู่ชื่อจันทารี ย่าชื่อนางสีดา ตาชื่อนันทะเสน ยายชื่อนางดี มีพี่น้องร่วม บิดามารดาเดียวกัน ๙ คน เป็นชาย ๕ หญิง ๔ คน เกิดมาได้ ๙ วัน เกิดมีอาการ รบกวนพ่อแม่เป็นการใหญ่ เช่นร้องไห้เสมอๆ ถึงกับโยมทั้งสองได้แตกจากกัน ไปหลายวัน เมื่อโยมผู้หญิงออกไฟได้ ๓ วัน ตัวเองเกิดโรคป่วยบนศีรษะ ไม่กิน ไม่นอนเป็นเวลาหลายวัน เลี้ยงยากที่สุด พ่อกับแม่ไม่มีใครสามารถเลี้ยงดูให้ถูกใจ
ต่อมาอายุได้ ๑๑ ปี มารดาถึงแก่กรรม ยังมีน้องเล็กๆ คนหนึ่งเป็นผู้หญิง ได้เลี้ยงดูกันมา ส่วนคนอื่นๆ เขาโตแล้วต่างคน ก็พากันไปทำมาหากิน ยังเหลือ อีก ๒-๓ คน พ่อลูกพากันทำนาเป็นอาชีพ พออายุได้ราว ๑๒ ปี ได้เรียนหนังสือไทยพออ่านออกเขียนได้ สอบชั้นประถมก็ตกเสียอีก ช่างมัน แต่จะเรียนไปจนหมดเวลา พอดีอายุ ๑๗ ปีจึงได้ออกจากโรงเรียน ต่อจากนั้นมาก็คิดหาแต่เงินเท่านั้น ในระหว่างนี้เกิดมีการขัดอกขัดใจกับโยมผู้ชายบ่อยๆ คือโยมต้องการให้เราทำ การค้าขายของที่เราไม่ชอบ เช่น ไปซื้อหมู วัวมาขาย เป็นต้น ถึงเวลาอยากจะไป ทำบุญก็คอยขัด การงานก็คอยขัดคอเสมอ บางทีต้องการไปทำบุญกับเขาก็หา ยอมให้ไปไม่ กลับบอกให้ไปทำไร่ทำนาเสีย บางวันน้อยใจนั่งร้องไห้อยู่คนเดียว กลางทุ่งนา นึกแต่ในใจว่าเราจักไม่อยู่ในหมู่บ้านนี้ แต่ก็ต้องอดทนอยู่ไปก่อน ต่อมาบิดาได้ภรรยาใหม่คนหนึ่งชื่อ แม่ทิพย์ ตอนนี้ค่อยสบายใจขึ้นหน่อย
เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ได้ออกเดินทางจากบ้านลงมาหาพี่ชาย ซึ่งมาทำงาน รับจ้างอยู่ที่ตลาดหนองแซง จ สระบุรี ทราบว่าเขาทำงานได้เงินเดือน เพราะทาง การชลประทานกำลังมีการก่อสร้างประตูน้ำ พอเดือน ๑๑ ก็ได้มาพักอยู่กับพี่ชาย ๆ ก็ไม่พอใจ เหตุที่จะไม่พอใจนั้น ก็เพราะได้บอกกับเขาว่า พี่ควรขึ้นไปบ้านบ้าง ซี เขาก็ปฏิเสธ ไม่อยากจะไป เราจึงหนีออกเดินทางลงมา เที่ยวแสวงหาเงิน เพราะเห็นว่าเงินเป็นของคู่กับชีวิต ในระหว่างนี้กำลังตกอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์แต่มี ความรู้สึกว่าตนของตนเองยังเป็นเด็กอยู่เสมอ เช่นมีเพื่อนฝูงแนะนำชักจูงไปเที่ยว ผู้หญิงก็ไม่สนใจ เพราะเรื่องผัว ๆ เมียๆ คิดว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก ชีวิตที่ผ่านมาแล้วนั้น มีความรุ้สึกนึกแต่ในใจอยู่ว่า ถ้าเราอายุยังไม่ถึง ๓๐ ปี จักไม่ยอมแต่งงานข้อหนึ่ง ข้อสองถ้าเงินไม่ติดอยู่ในกำมือถึง ๕๐๐ บาท เราจักไม่ยอมแต่งงานกับใครๆ ตั้งใจว่าเราคนเดียวมีความสามารถและมีเงินที่จะเลี้ยงดูเขาได้อย่างน้อย ๓ คนขึ้นไป เราจึงจะยอมเกี่ยวข้องกับผู้หญิง ยังมีข้อร้งเกียจอยู่อีกข้อหนึ่งคือ เวลาเป็นเด็กเริ่มรู้เดียงสา ถ้าได้เห็นหญิงตั้งครรภ์จวนจะคลอดทำให้เกิด ความรู้สึกทั้งเกลียดทั้งกลัว เพราะคนทางโน้นเวลาจะคลอดบุตร มักเอาเชือกผูกบนขื่อ มือจับปลายเชือกห้อยแขวนทำการคลอด บางคนถึงกับร้องเอะอะโวยวาย หน้าบิดคอเบี้ยว บางครั้งเผอิญไปเห็นเข้าต้องเอาปิดหูปิดตา นอนไม่หลับเพราะความทั้งเกลียดทั้งกลัว เรื่องเหล่านี้มีความรู้สึกติดตา ติดใจมาตั้งแต่เด็ก
ต่อมาอายุผ่านเข้า ๑๙-๒๐ ปี ในระหว่างนี้พอจะมีความคิดนึกในทางบุญและทางบาป แต่ก็ไม่มีนิสัยในการทำบาป ตั้งแต่เกิดมาจนถึงอายุ ๒๐ ปี ได้เคยฆ่าสัตว์ใหญ่ตายครั้งเดียว คือสุนัข เหตุที่ฆ่าสุนัขนั้นจำได้ว่า วันหนึ่งกำลังนั่งกินข้าวอยู่แล้วเอาไข่ไปหมกไว้ในกองไฟ สุนัขก็มาคาบเอาไข่ไปกินเสีย ลุกขึ้นได้คว้าไม้ตีสุนัขตายคาที่ พอสุนัขตายก็นึกเสียใจว่า เราจะแก้บาปครั้งนี้โดยวิธีไหน จึง ได้ค้นหาหนังสือเก่า ๆ ท่องจำคาถากรวดน้ำได้ก็มาไหว้พระสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้สุนัขตัวนั้น ใจก็ดีขึ้น แต่นิสัยใจคอระหว่างนั้นก็นึกอยู่ในใจว่าเราอยากจะบวช
พอดีอายุครบ ๒๐ ปี ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๖๘ โยมมารดาเลี้ยงตาย วันนั้นได้ไปอยู่กับญาติที่อำเภอบางเลน จ. นครปฐม พอปลายเดือน ก.พ. ก็ได้กลับขึ้นไปบ้าน โยมบิดาก็แนะนำให้บวช ขณะนั้นมีเงินติดตัวอยู่ประมาณ ๑๖๐ บาท เมื่อไปถึงบ้านใหม่ ๆ พี่ชาย พี่เขย พี่สาว ฯลฯ ก็พากันมากลุ้มรุมเยี่ยมเยียนถามข่าวคราวต่างๆ แล้วขอกู้เงินยืมไปซื้อควายบ้าง ซื้อนาบ้าง ค้าขายบ้าง ก็ยินยอมให้เงินเขาไปตามที่เขาต้องการ เพราะตัวเองคิดจะบวช ตกลงเงิน ๑๖๐ บาท ที่มีอยู่คงเหลือเพียง ๔๐ บาท
ถึงเวลาเทศกาลบวชนาค โยมบิดาก็จัดแจงให้บวชจนสำเร็จ ได้ทำการบวชเมื่อวันที่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ มีเพื่อนๆ บวชด้วยกันในวันนั้น รวม ๙ องค์ ทุกวันนี้พวกที่บวชวันเดียวกันมรณภาพไปบ้าง ลาสิกขาบ้าง ยังคงเหลือที่เป็นพระภิกษุอยู่เพียง ๒ องค์ คือเพื่อนหนึ่ง กับตัวเอง เมื่อบวชแล้วก็ได้เรียนสวดมนต์และพระธรรมวินัย แล้วตรวจดูภาวะของตน และพระภิกษุอื่นๆ ในสมัยนั้น เห็นว่าไม่ไหวแน่ เพราะแทนที่จะปฏิบัติสมณกิจ กลับมั่วสุมแต่การสนุกมากกว่าเป็นต้นว่า นั่งเล่นหมากรุกกันบ้าง เล่นมวยปล้ำกันบ้าง เล่นดึงหัวไม้ขีดไฟกับผู้หญิง (เวลามีงานเฮือนดี) บ้าง เล่นนกกันบ้าง เล่นชนไก่กันบ้าง บางทีถึงกับมีการฉันข้าวเย็น พูดถึงเรื่องฉันข้าวเย็นแม้แต่ตัวเองซึ่งรวมอยู่ในสังคมเช่นนั้น ในสมัยนั้นนึกได้ว่าเคยประพฤติรวม ๓ ครั้งคือ
ครั้งที่ ๑ วันหนึ่งรู้สึกหิวได้คว้าเอาข้าวที่บูชาไว้บนหิ้งพระมาฉันเวลากลางคืน
ครั้งที่ ๒ ได้รับนิมนต์ไปเทศน์มหาชาติในงานบุญมหาชาติที่วัดบ้านโนนแดง ตำบลไผ่ใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ พอดีกัณฑ์เทศน์ของตัวเองไปตรงกับเวลาเพล พอเทศน์จบก็หมดเวลาฉัน ขณะเดินทางกลับวัดมีลูกศิษย์สะพายย่ามใส่ข้าวสุกข้าวต้มมัดและปลาย่าง เมื่อเดินเท้ามาระหว่างทางประมาณ ๑๓.๐๐ น. เศษ รู้สึกเหน็ดเหนื่อยและหิว จึงเรียกให้ลูกศิษย์เอาของในย่ามมาดู อดใจไม่ไหวเลยนั่งลงฉันปลาย่างกับข้าวเหนียวที่ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง เมื่อฉันเสร็จแล้วจึงได้เดินทางกลับวัด
ครั้งที่ ๓ เข้าป่าไปทำงานลากไม้มาสร้างศาลาการเปรียญ ตกเวลากลางคืนเกิดความหิว จึงได้ฉันข้าวเย็นอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องเหล่านี้มิได้ทำแต่ลำพังคนเดียว เพื่อนฝูงก็ทำกันมาก แต่พากันปิดบัง ในระหว่างที่บวชอยู่ในระยะเวลานั้น ที่รู้สึกเบื่อที่สุดคือการรับนิมนต์ไปสวดมนต์คนตาย เพราะรู้สึกรังเกียจมาก ตั้งแต่เกิดมาจนอายุ ๒๐ ปี ถ้าบ้านไหนเกิดมีคนตายจะไม่ยอมไปกินข้าวกินน้ำในบ้านนั้น แม้กระทั่งคนอยู่ที่บ้านเดียวกันออกไปช่วยงานศพ เมื่อเขากลับมาถึงบ้านก็คอยสังเกตดูว่า เขาจะกินน้ำกระบวยไหน กินข้าวกล่องไหน แล้วจดจำไว้แต่ไม่พูด แล้วตัวเองจะไม่ยอมกินข้าวกินน้ำร่วมภาชนะกับคนนั้น เมื่อบวชแล้วนิสัยนี้ก็ยังติดอยู่ ตั้งแต่เกิดมาถึงอายุ ๑๙ ปี ป่าช้าไม่เคยเหยียบ แม้ญาติหรือแม่จะตายก็ไม่ยอมไปเผา
วันหนึ่งได้ยินเสียงร้องไห้โวยวายในหมู่บ้าน ก็ทราบว่ามีคนตาย พอดีเห็นคนเดินถือขันพร้อมดอกไม้ธูปเทียนมานิมนต์พระไปสวด พอคนมานิมนต์เดินเข้าห้องสมภาร ตัวเองก็รีบหนี พระบวชใหม่ๆ ที่เป็นลูกน้องก็พลอยหนีตาม หนีไปแล้วก็แยกย้ายกันไปละแห่ง ปีนขึ้นต้นมะม่วงคนละต้นแล้วต่างคนต่างนิ่งเงียบ สักครู่หนึ่ง พระอุปัชฌาย์ท่านตามหาไม่พบ ได้ยินแต่เสียงท่านเอ็ดอยู่บนกุฏิ นึกกลัวอยู่อย่างหนึ่ง คือลูกกระสุน เพราะพระอุปัชฌาย์ท่านชอบยิงกระสุนไล่ค้างคาวตามต้นไม้ ในที่สุดท่านก็ใช้ให้สามเณรค้นหาจนพบ ต่างคนต่างต้องลงจากต้นมะม่วง
เป็นอยู่อย่างนี้จนตลอดเวลา ๒ พรรษา จึงมาตรวจค้นดูพระวินัย ก็รู้สึกยุ่งยากลำยากใจเป็นอย่างยิ่ง นึกแต่ในใจว่า เราต้องสึก ถ้าไม่สึกเราต้องหนี พอล่วงถึงพรรษาที่ ๒ จึงตั้งใจอธิษฐานว่า เวลานี้ข้าพเจ้ายังมุ่งดีหวังดีต่อพระศาสนาอยู่ในกาลต่อไปนี้ ขอจงให้พบครูบาอาจารย์ที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบภายใน ๓ เดือน
ต่อมาเดือน พ.ย.ข้างแรม ได้ไปเทศน์มหาชาติที่วัดบ้านโนนรังใหญ่ ต.ยางโยภาพ อ.ม่วงสามสิบ พอดีไปพบพระกรรมฐานองค์หนึ่งกำลังเทศน์อยู่บนธรรมาสน์ รู้สึกเกิดแปลกประหลาดในจิตขึ้นโดยโวหารของธรรมะน่าเลื่อมใส จึงได้ไต่ถามญาติโยมว่าท่านองค์นั้นเป็นใคร มาจากไหน ได้รับตอบว่า เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ชื่ออาจารย์บท ท่านได้พักอยู่ในป่ายางใหญ่ใกล้บ้านราว ๒๐ เส้น พองานมหาชาติเสร็จก็ได้ติดตามไปดู ได้เห็นปฏิปทาความประพฤติของท่านเป็นที่พอใจ จึงถามท่านว่าใครเป็นอาจารย์ของท่าน ท่านตอบว่า พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ เวลานี้พระอาจารย์มั่นได้ออกเดินทางจากจังหวัดสกลนครไปพักอยู่ที่วัดบูรพา จ. อุบลราชธานี
พอได้ความเช่นนั้นก็รีบเดินทางกลับบ้าน นึกแต่ในใจว่า เราคงสมหวังแน่ ๆ อยู่มาได้กี่วันจึงได้ลาโยมผู้ชาย ลาพระอุปัชฌาย์ ท่านทั้งสองนี้ก็พูดจาขัดขวางทุกด้านทุกมุม แต่ได้ตัดสินใจเด็ดขาดว่า เราต้องไปจากบ้านนี้โดยเด็ดขาด จะให้สึกก็ต้องไป จะให้อยู่เป็นพระก็ต้องไป พระอุปัชฌาย์และโยมผู้ชายไม่มีสิทธิ์ใด ๆ ทั้งหมด ถ้าขืนก้าวก่ายสิทธิ์ในตัวเรานาทีใด ต้องลุกหนีไปนาทีนั้น ได้พูดกับโยมผู้ชายอย่างนี้ ในที่สุดโยมผู้ชายและพระอุปัชฌาย์ก็ยอม
เดือนอ้ายข้างแรม เวลาเพลแล้ว ประมาณ ๑๓.๐๐ น. ได้ออกเดินทางพร้อมด้วยบริขารโดยลำพังองค์เดียว โยมผู้ชายได้ติดตามออกไปส่งถึงกลางทุ่งนา เมื่อได้ร่ำลากันแล้วต่างคนก็ต่างไป วันนั้นเดินทางผ่านอำเภอม่วงสามสิบพุ่งไปสู่ จ.อุบลราชธานี ได้ทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่บ้านกุดลาด ต.กุดลาด อ.เมือง อยู่ห่างจากจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ ๑๐ กิโลเมตรเศษ พอดีพระบริคุตฯ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายอำเภอม่วงสามสิบถูกปลดอออกจากราชการขี่รถยนต์ผ่านมา พบเรากำลังเดินทางอยู่คนเดียว ท่านผู้นี้ได้นิมนต์ขึ้นรถขนย้ายครอบครัวของท่าน ไปส่งถึงสนามบินจังหวัดอุบลฯ ทางไปบ้านกุดลาด บัดนี้ก็ยังระลึกถึงบุญคุณของท่านผู้นี้อยู่ ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันเลย ประมาณ ๕ โมงเย็นเดินทางถึงสำนักวัดป่าบ้านกุดลาดแต่ได้ทราบว่าพระอาจารย์มั่นกลับมาพักอยู่วัดบูรพา
รุ่งเช้าเมื่อฉันอาหารแล้วได้เดินทางกลับมาจังหวัดอุบลฯ ได้ไปนมัสการกราบเรียนความประสงค์ของตนต่อพระอาจารย์มั่น ท่านก็ได้ช่วยแนะนำสงเคราะห์เป็นที่พอใจ สอนคำภาวนาให้ว่า พุทโธฯ เพียงคำเดียวเท่านี้ พอดีท่านกำลังอาพาธ ท่านได้แนะนำให้ไปพักอยู่บ้านท่าวังหิน ซึ่งเป็นสถานที่เงียบสงัดวิเวกดี ที่นั่นมีพระอาจารย์สิงห์ พระมหาปีน มีพระภิกษุสามเณรราว ๔๐ กว่าองค์พักอยู่ ได้เข้าไปฟังธรรมเทศนาของท่านทุกคืน รู้สึกว่ามีผลเกิดขึ้นในใจ ๒ อย่างคือ เมื่อนึกถึงเรื่องเก่าๆ ของตนที่เป็นมาก็ร้อนใจ เมื่อนึกถึงเรื่องใหม่ๆ ที่กำลังประสบอยู่ก็เย็นใจ ทั้ง ๒ อารมณ์นี้ติดตนอยู่เสมอ
พอดีได้พบเพื่อนที่หวังดี ๒ องค์ได้ร่วมอยู่ ร่วมฉันร่วมศึกษาสนทนากันตลอดมา เพื่อน ๒ องค์นั้นคือพระอาจารย์กงมาและพระอาจารย์สามได้พากเพียรพยายามภาวนาอยู่สมอทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อได้พักอยู่พอสมควรแล้ว ก็ได้ชวนพระอาจารย์กงมาออกเดินทางไปเรื่อยๆ ไปพักตามศาลเจ้าผีปู่ตาของหมู่บ้านตำบลต่างๆ แล้วได้เดินทางกลับไปถึงบ้านเดิม เพื่อบอกข่าวกุศลให้โยมผู้ชายทราบว่าได้พบพระอาจารย์มั่น เป็นพอใจในชีวิตแล้ว อาตมาจักไม่กลับมาตายบ้านนี้ต่อไป คือได้นึกเป็นคติในใจอยู่ว่า เราเกิดมาเป็นคน ต้องพยายามไต่ขึ้นอยู่บนหัวคน เราบวชเป็นพระ ต้องพยายามให้อยู่บนหัวพระ ที่เราเคยพบผ่านมา ตอนนี้รู้สึกว่าเกิดสมหวังในความคิด ฉะนั้นจึงกลับบอกเล่าให้โยมฟังว่า ฉันลาไม่กลับ เงินทองข้าวของใช้ส่วนตัว มอบเสร็จ ทรัพย์สินเงินทองของโยม จะไม่เกี่ยวข้องตลอดชีวิต แต่ยังไม่เคยตัดสินใจว่าเราบวชแล้ว จะไม่ยอมสึก แต่ก็นึกในใจว่า เราไม่ยอมจนในชีวิต
โยมป้าได้ทราบเรื่องก็มาพูดต่อว่า ว่า ท่านจะเกินไปละกระมัง จึงได้ตอบไปว่า ถ้าฉันสึกมา ถ้าฉันมาขอข้าวป้ากินขอให้ป้าเรียกว่าฉันว่าสุนัขก็แล้วกัน เมื่อได้ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วเช่นนี้ ก็ได้สั่งกับโยมผู้ชายว่า โยมอย่าเป็นห่วงอาตมา จะบวชอยู่ได้ก็ตาม จะสึกออกมาก็ช่าง อาตมาพอใจแล้วที่ได้สมบัติจากโยม ได้ทรัพย์วิเศษแล้วจากโยม คือ ตา ๒ ข้าง หู ๒ ข้าง จมูก ปากครบอาการ ๓๒ จัดเป็นก้อนทรัพย์อย่างสำคัญ แม้โยมจะให้ทรัพย์อย่างอื่น อาตมาก็ไม่อิ่มใจ เมื่อได้สั่งโยมผู้ชายเสร็จแล้ว ก็ลาโยมผู้ชายเดินทางกลับจังหวัดอุบลฯ เดินทางไปถึงหมู่บ้านวัดถ้ำ ก็ได้พบพระอาจารย์มั่นพักอยู่ในป่า จึงได้เขาไปพักอาศัยอบรมอยู่กับท่านเป็นเวลาหลายวัน
ต่อจากนั้นได้ดำริว่า เราต้องสวดญัตติใหม่ ล้างบาปเก่าเสียที เมื่อได้หารือพระอาจารย์มั่นแล้วท่านเห็นดีเห็นชอบด้วย จึงได้ทำการหัดขานนาค เมื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้ติดตามท่านไปเที่ยวในตำบลต่างๆ ได้รู้สึกมีความเสื่อมใสท่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้รับความอัศจรรย์จากท่านหลายอย่าง อาทิเช่น บางเรื่องคิดอยู่ในใจของเราไม่เคยแสดงให้ท่านทราบเลยท่านกลับทักทายถูกต้อง ยิ่งเพิ่มความเคารพเสื่อมใสยิ่งขึ้นทุกที การทำสมาธิก็หนักแน่นหมดความห่วงใยอะไรต่ออะไรหลายๆ อย่าง ได้อบรมอยู่กับท่านเป็นเวลา ๔ เดือน ท่านก็ได้นัดหมายให้ไปสวดญัตติใหม่ที่วัดบูรพา จ.อุบลฯ มีพระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) วัดสระปทุม จ.พระนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เพ็ง วัดใต้ จ.อุบลฯ เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มั่นเป็นผู้บรรพชาให้เป็นสามเณร ได้อุปสมบทใหม่เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ อุปสมบทแล้ว ๑ วันก็ได้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัดคือฉันมื้อเดียว ได้พักอยู่วัดบูรพาคืนเดียวก็ได้ออกไปอยู่ป่าบ้านท่าวังหินตามเคย
เมื่อพระอาจารย์มั่นและพระปัญญาพิศาลเถระได้เดินทางกลับ จ. พระนคร เข้าจำพรรษาวัดสระปทุม ท่านได้มอบหมายให้ไปอยู่กับพระอาจารย์สิงห์และอาจารย์มหาปิ่น ในระหว่างนี้ได้เดินทางเที่ยววิเวกไปในสถานที่ต่างๆ พระอาจารย์สิงห์และพระอาจารย์มหาปิ่น ก็ได้เที่ยวเทศนาอบรมศีลธรรมประชาชนโดยการขอร้องของพระยาตรังฯ เจ้าเมืองอุบลฯ เมื่อจวนเข้าพรรษาได้ไปพักจำพรรษาอยู่วัดบ้านหัวงัว อ.ยโสธร พอดีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เจ้าคณะมณฑลได้เรียกตัวพระอาจารย์มหาปิ่นกลับจ. อุบล ตกลงจึงได้อยู่จำพรรษาในตำบลนั้น
มีเพื่อนอยู่ด้วยกัน ๔-๕ องค์ ในพรรษานั้นได้พากเพียรทำสมาธิอย่างเข้มแข็ง บางคราวก็นึกเสียใจอยู่บ้าง เพราะอาจารย์ผู้ใหญ่หนีไปหมด จิตบางขณะก็นึกอยากจะลาเพศ แต่หากมักมีเหตุบังเอิญให้สำนึกรู้สึกตัวอยู่เสมอ วันหนึ่งเวลากลางวันประมาณ ๑๗.๐๐ น. ขณะกำลังเดินจงกรม จิตกำลัง แกว่งไปในทางโลก พอดีมีหญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาข้างๆ วัด เธอได้ร้องรำเป็นเพลงขึ้น โดยภาษาว่า กูได้เล็งเห็นแล้ว หัวใจนกขึ้ถี่ (นกทึดทือ) ปากมันหัก ร้องทึดทึอ ใจเลี้ยวใส่ปู (นกชนิดนี้ชอบกินปู) ก็ได้จำเพลงบทนี้มาบริกรรมเป็นนิจว่า เขาว่าใส่เรา คือเราเป็นพระกำลังก่อสร้างความดีอยู่ แต่ใจมันใส่ไปในอารมณ์ของโลกก็นึกละอายใจตนเองเรื่อยๆ มา ว่าเราจะทำใจของเราให้อยู่กับภาวะของเรา จึงจะไม่สมกับที่ผู้หญิงคนนั้นมาพูดเช่นนั้น เรื่องเหล่านี้ได้กลายมาเป็นธรรมหมด
เรื่องอื่นๆ ยังมีอยู่อีกมาก ล้วนเป็นคติเตือนใจ ครั้งหนึ่งในเวลากลางคืนเดือนหงายได้ตกลงนัดหมายกับเพื่อนว่า เรามาเดินจงกรมกัน อดนอนทำสมาธิกัน ในพรรษานั้นมีพระเพื่อนอยู่ด้วยกันรวม ๕ องค์ สามเณร ๑ องค์ เราตั้งใจว่าจะปฏิบัติให้อยู่เหนือพวกเหล่านี้ทุกองค์ เช่น เพื่อนฉันข้าวได้ ๑๐ คำ เราจะต้องฉันเสมอ ๘ คำ เพื่อนั่งสมาธิได้ ๓ ชั่วโมง เราจะต้องนั่งได้ถึง ๕ ชั่วโมง เพื่อนเดินจงกรมได้ ๑ ชั่วโมง เราจะต้องเดินได้ ๒ ชั่วโมง ทุกสิ่งทุกอย่างต้องนึกอย่างนี้ แต่รู้สึกว่าทำได้อย่างที่นึก สิ่งนี้เป็นความลับในตนคนเดียว
อยู่มาวันหนึ่งได้พูดกับเพื่อนว่า เรามาทดลองกันดูว่า ใครจะนั่งสมาธิและเดินจงกรมเก่งกว่ากัน จึงได้ตกลงกับเพื่อนว่า เวลาผมเดินจงกรมให้ท่านนั่งสมาธิ เวลาผมนั่งสมาธิให้ท่านเดินจงกรมว่าใครจะอดทนได้นานมากกว่ากัน ถึงวาระที่เราเดินจงกรม พระองค์นั้นได้ไปนั่งสมาธิอยู่ในกุฏิใกล้ทางเดินจงกรม สักครู่หนึ่งก็ได้ยินเสียงดังโครม จึงได้เปิดประตูหน้าต่างชะโงกหน้าออกไปดู ได้เห็นเพื่อนองค์นั้นนอนหงายขาชี้อยู่ สังเกตเหตุการณ์ว่าท่านคงนั่งสมาธิขัดสมาธิเพชรแล้วเกิดง่วงนอน เลยหงายหลังหลับไป ตัวเราเองก็ง่วงเต็มที แต่ต้องอดทนให้ชนะเพื่อนให้ได้ เมื่อได้เห็นอาการของเพื่อนเป็นอย่างนี้แล้วก็นึกละอายใจว่า ถ้าเราเป็นอย่างนี้บ้างคงแย่ แต่ก็ดีใจว่าเราได้ชนะเขา
เรื่องต่างๆ ที่เล่ามานี้รู้สึกว่าเป็นคติเตือนใจได้เสมอว่าคนที่ทำอะไรไม่จริง ต้องมีสภาพอย่างนี้ พอออกพรรษาแล้วต่างคนต่างแยกย้ายกันไปพักอยู่ตามป่าช้าโดยลำพังองค์เดียว ในพรรษานี้รู้สึกตัวว่า ทำจิตทำสมาธิได้ดีมาก จิตสงบอย่างละเอียดประณีต มีสิ่งแปลกประหลาดเกิดขึ้นในใจอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาแต่กาลก่อน คือเมื่อจิตสงบได้ดีแล้ว มีอะไรๆ ผุดขึ้นต่างๆ ภาษาบาลีซึ่งไม่เคยแปลออกก็แปลได้ เช่นบทสวดมนต์พุทธคุณ หรือ ๗ ตำนานที่สวดมาก็นึกแปลได้เป็นส่วนมาก พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ย่อที่เคยสวดมาแต่กาลก่อนแปลได้เกือบหมด รู้สึกว่ามีการแตกฉานขึ้นพอสมควรในเรื่องธรรม อยากรู้อะไร ทำใจนิ่งก็รู้ ไม่ต้องใช้ความนึกคิด เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังนี้จึงได้นำเรื่องไปเล่าถวายพระอาจารย์กงมา ท่านก็ชี้แจงว่า พระพุทธเจ้าของเราก็ไม่ได้เรียนรู้มาก่อน ถึงเรื่องการเรียนหรือเทศน์ พระองค์ท่านได้ปฏิบัติรู้ในใจก่อนแล้วจึงได้บัญญัติไว้เป็นปริยัติธรรม ฉะนั้นการรู้ของเราเป็นการไม่ผิด เมื่อได้ทราบดังนี้ ก็มีจิตอิ่มเอิบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง..