หลวงตามหาบัว สอนปฏิบัติธรรมพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านแนะนำสั่งสอนไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ พระธรรมและพระวินัยนั้นแลจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว นี่สำคัญมาก เป็นพระวาจาของพระองค์
ศีล “เป็นรั้วกั้นสองฟากทางไม่ให้ข้ามออกไปตกเหวตกบ่อเป็นอันตราย” ให้อยู่ในกรอบของศีล เรียกว่า “อยู่ในเขตแห่งความปลอดภัย” จากนั้นก็ก้าวเดินทางธรรมคือจิตภาวนา มีสติเป็นสำคัญมาก ทุกๆ ท่านจำให้ดีคำว่าสตินี้เป็นพื้นฐานแห่งการบำเพ็ญธรรมทุกขั้นทุกภูมิ ตั้งแต่พื้นๆที่ฝึกหัดดัดแปลงล้มลุกคลุกคลานนี้จนกระทั่งถึงวิมุติหลุดพ้น จะนอกเหนือไปจากสตินี้ไปไม่ได้เลย เวลาล้มลุกคลุกคลานก็มีสติควบคุมไว้ตลอด จนได้หลักได้เกณฑ์ จิตเข้าสู่ความสงบร่มเย็นด้วยจิตภาวนา โดยมีสติเป็นเครื่องควบคุมเสมอ แล้วจิตก็จะเย็นเข้าไปๆ
การเคลื่อนไหวไปมาแม้นที่สุดการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เรื่องสติเป็นเรื่องสำคัญเป็นเรื่องใหญ่โต ในการบำเพ็ญจิตภาวนาของพวกเรา ขอให้มีสติดีๆ เถอะ สมมติว่าเราเริ่มฝึกหัดเบื้องต้น จำต้องอาศัยคำบริกรรมจะเป็นคำใดก็ตามตามแต่จริตนิสัยที่ชอบ เช่นพุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นต้นนะ แล้วให้ยึดคำบริกรรมนั้นเอาไว้กับจิต มีสติควบคุมอยู่กับคำบริกรรมนั้นตลอดไปอย่าให้เผลอไผลไปไหน
อย่าเสียดายความคิดปรุงที่เคยคิดปรุงมาแต่อ้อนแต่ออก ความคิดเหล่านี้ส่วนมากเป็นความคิดของกิเลสตัณหา สร้างขึ้นจากความเผลอสติของเรา ต้องไม่เผลอสติตัดความคิดทั้งหลายนั้นออก เพราะไม่เป็นประโยชน์สาระอันใด นอกจากจะมากวนใจให้หาความสงบร่มเย็นไม่ได้เท่านั้น จึงต้องมีสติให้ดีอย่าเสียดายอารมณ์ใด นอกจากคำบริกรรมของเรา
สำหรับผู้เริ่มต้นที่ยังไม่มีหลัก ให้ถือคำบริกรรม (เช่นพุทโธ ฯลฯ) เป็นหลักใจ แล้วมีเครื่องกำกับอยู่กับคำบริกรรมนั้นอย่าให้เผลอ อย่าเสียดายเวล่ำเวลาไปไหนที่กิเลสมันฉุดลากออกไปด้วยความอยากคิดเรื่องนั้น อยากปรุงเรื่องนี้ นี่เป็นจิตที่มีแต่กิเลสฉุดลากออกนอกลู่นอกทางแห่งคำบริกรรมของเรา อย่าให้มันคิดออกไปได้ เราจะตั้งภาวนาเพื่อให้ได้หลักของจิตใจเกี่ยวกับจิตภาวนา
ตั้งสติกำกับบริกรรมนี้ให้ดี อย่าให้เผลอ หากว่าเราจะมีการเคลื่อนไหวไปมาทางใด เคลื่อนออกจากจากนี้ไป ก็ให้มีสัมปชัญญะติดแนบอยู่ด้วย รู้ตัวด้วยความเคลื่อนไหวของตน เพื่อสมบัติของจิตจะได้ปรากฏเด่นชัดขึ้นมา ตั้งแต่สมาธิสมบัติหรือสมถะสมบัติจากนั้นก้าวออกทางด้านปัญญา เมื่อจิตของเรามีความสงบร่มเย็นแล้วย่อมอิ่มอารมณ์ อารมณ์ที่อยากคิดสิ่งนั้นอยากคิดสิ่งนี้จะจางไป เพราะนั่นเป็นอารมณ์ของกิเลส กิเลสทำงานสร้างแต่ความมัวหมองมืดตื้อเข้ามาสู่ใจ
ธรรมทำงานคือคำบริกรรม มีสติกำกับรักษานี่เรียกว่างานของธรรมนี้แลจะทำจิตใจของเราให้มีความสงบเป็น ลำดับ เมื่อมีสติรักษาอยู่ตลอดแล้วจะไม่มีภัยใดๆ เกิดขึ้นภายในใจเลย จิตของเราจะมีความสงบแน่วแน่ขึ้น
สำหรับผู้ที่เริ่มใหม่ๆ ตั้งรากฐานใหม่ๆ เราตั้งฐานความมีสติไม่ปราศจากคำบริกรรม สำหรับผู้ที่มีรากฐานแล้วเช่นจิตเป็นสมาธิ ความรู้ก็ให้ติดอยู่กับสมาธิ ความสงบแน่นหนามั่นคงของใจ ไม่เสียดายอารมณ์ที่คิดปรุงแต่งต่างๆ เมื่อสมาธิแน่นหนาแล้วความคิดปรุงแต่งจะไม่เข้ามารบกวนจิตใจ มิหนำซ้ำผู้มีสมาธิจิตมั่นคงจริงๆ ความคิดปรุงแต่งเป็นเรื่องรำคาญ
อยู่เอกจิต เอกธรรม เรียกว่า “เอกคตารมณ์”แน่วอยู่ด้วยสมาธิอย่างนี้เรียกว่าจิตอิ่มตัว เช่นนี้แล้วให้แยกออกจากจิตคือแยกออกจากสมาธิ พิจารณาทางด้านปัญญา ด้านปัญญานี้ “เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ” (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง) นี้เป็นได้ทั้งอารมณ์สมถะที่เราบริกรรมเพื่อความสงบใจ เป็นได้ทั้งอารมณ์วิปัสสนาคือเราคลี่คลาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อเหล่านี้จนกระทั่งเห็นกระดูก ตับ ไต ไส้ พุง ไปหมด คลี่คลายออกตามสัดส่วนที่มีอยู่ในร่างกายของเรา
จงใช้ปัญญาพิจารณาเช่นเกศาเอาแยกเข้าไปหาโลมา นขา ทันตา ตโจ เรียงลำดับหรือไม่เรียงลำดับก็ไม่สำคัญ ขอให้มีสติติดแนบกับอารมณ์ที่เราชอบใจ เช่นหนังหรือเนื้อ เอ้า ! พิจารณาเข้าไปแล้วมันจะเหมือนไฟดับเชื้อ จะค่อยๆ ลุกลามเข้าไปหาเอ็น กระดูก ตับไตไส้พุง อาหารเก่า อาหารใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นส้วมซึ่งเป็นฐานของสัตว์ บุคคล ของเขาของเราแต่ละคน มันยึดส้วม (ร่างกาย) ยึดเป็นฐานเป็นสาระ เมื่อมันไม่รู้มันก็ยึด
ทีนี้ให้แยกออกดูสภาพแห่งส้วม (ร่างกาย) แห่งฐานนี้ มันมีสาระอะไรบ้างให้พิจารณา จะพิจารณาผมก็ได้ ขน เล็บ ฟัน หนัง ตามแต่จริตนิสัยชอบ แยกเข้าไปแยกเข้าไป จนถึงเนื้อ เอ็นกระดูก ตับไตไส้พุง จากนั้นให้แยกออกกระจัดกระจายให้เป็นสัดส่วน ให้เป็นของปฏิกูล โสโครกเน่าเฟะไปหมดทั้งร่าง เอาประกอบกันเข้ามาตั้งเป็นหญิงเป็นชาย เอาสวยงามตั้งขึ้นเมื่อไหร่ให้ อสุภะอสุภัง ตีมันแหลกลงไป เมื่อตั้งสวยงามเมื่อไหร่ ตีให้แหลกกระจัดกระจายไปเรื่อยๆ นี่เรียกว่า ปัญญาชำนาญ ให้ใช้ปัญญาเมื่อจิตอิ่มอารมณ์ คือ มีสมาธิแล้วอย่าอยู่กับสมาธิ
หลวงตามหาบัว กับหลวงปู่สาม อกิญจโน สมาธินั้นไม่ใช่ธรรมแก้กิเลส เป็นเพียงว่าธรรมเพื่อทำกิเลสให้สงบด้วยสมาธิ จิตที่ปรุงต่างๆ จึงไม่ค่อยมีสำหรับผู้มีสมาธิ นั้นแหละจิตอิ่มตัว ให้เอาจิตอิ่มตัวนี้ออกพิจารณาเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เข้าไปถึงอาการสามสิบสอง ทุกสัดทุกส่วน เดินกรรมฐานอยู่ในร่างกายของเรานี้ขึ้นๆ ลงๆ หลายครั้งหลายหน จนมีความชำนาญ เมื่อพิจารณาร่างกายนี้จนมีความชำนาญแล้ว มันจะรู้อย่างรวดเร็ว มองดูอะไรนี่ทะลุไปหมด
สมมุติว่าเราอยู่ในขั้นพิจารณาจิตเราถึงเนื้อนี่ มองไปที่คนอื่นจะเห็นเนื้อเขาแดงโล่ พิจารณาเข้าไปก็ยิ่งเห็นชัดเจน หรือพิจารณากระดูกแล้วเมื่อดูคนอื่นๆ ก็จะเห็นแต่กระดูกเต็มตัว มองไปเห็นเด่นชัดภายในปัญญาของเรา (มีเรื่องเล่าว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งท่านพิจารณาเรื่องกระดูกได้ชัดเจนมาก อยู่มาวันหนึ่งมีผู้ชายคนหนึ่งเดินมาถามหาคนรักของตนกับพระภิกษุรูปนี้ซึ่ง ยืนอยู่ทางเดินว่า “ท่านเห็นผู้หญิงคนหนึ่งผ่านมาทางนี้หรือไม่” พระภิกษุว่า “ไม่เห็น...เห็นแต่กระดูกเดินผ่านไป”)
สัตว์ บุคคลที่กิเลสมันรวบรัดเอาไว้ ประดับประดาตกแต่งเอาผิวบางๆมาหลอกลวงว่าเป็นของสวยของงาม นอกจากนั้นก็เอาสิ่งภายนอกมาตกแต่งประดับประดาด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับ ให้ลืมส้วมภายใน ให้ลืมของสกปรกอยู่ในตัวของเราภายใน เพราะสิ่งภายนอกมาอำพราง กิเลสมาพรางตาให้คนตาฝ้าตาฟางอย่างเราหลงเห็นว่าสวยเห็นว่างาม
ในร่างกายของเขาของเราน่ะต้องทำความสะอาดสะอ้าน เสื้อผ้าใส่แล้วต้องเอาไปซัก เพราะตัวศพดิบ(ร่างกาย)นี้เป็นตัวสกปรกมาแปดเปื้อน ไม่อย่างนั้นเหม็นคุ้งไปหมด กิเลสมาพอกพูนหลอกลวงสัตว์โลกว่าเป็นของสวยของงามคือศพดิบเรานี่แหละ แยกออกให้ดีนี่คือปัญญา
เมื่อพิจารณาจิตใจของเรา พิจารณาทางด้านปัญญามันมักจะเพลิน เพลิดเพลินไปมันจะพิจารณาไม่หยุด ไม่ถอย ให้ยับยั้งเข้าสู่สมาธิ เวลาจิตใจอ่อนเพลียมันเร่งความเพียรของมันโดยทางปัญญา คือมันจะหมุนของมันไปเรื่อยๆๆๆ พอได้เหตุได้ผลในการถอดถอนกิเลส จากสิ่งเหล่านี้แล้วมันจะเพลินตัวของมัน ถ้ามันเพลินตัวมันจะรู้สึกมีความเหนื่อยภายในร่างกายของเรา เฉพาะอย่างยิ่งในหัวอกจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าภายในท่ามกลางหัวใจเรานั่นแล ให้ย้อนจิตที่มันกำลังเพลินในการพิจารณานั้นเข้าสู่สมาธิเสีย
“เข้าสู่สมาธินี่คือการพักนะ” งานของเราคืองานพินิจพิจารณา อสุภะ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตาอยู่ในร่างกายนี้ เมื่อมันเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วให้ย้อนเข้ามาพักในสมาธิ แต่จิตจะเพลินไม่อยากจะเข้าพักในสมาธิ แต่ก่อนถือสมาธิเป็นสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ให้ความสุข ความสบาย แต่เวลาก้าวออกทางปัญญาแล้วสมาธินี่เหมือนหนึ่งว่าจะหมดคุณค่าไป ความจริงมีคุณค่าอยู่ในนั้นเมื่อเวลาเราพิจารณาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามากๆ แล้ว จิตจะไม่อยากอยู่ในสมาธิ มันเพลินทางด้านปัญญามันจะพุ่งออกทางด้านปัญญา เวลาเราจะให้พักจะต้องหักจิตเข้ามา ถึงแม้มันจะเพลินในการพิจารณาในด้านปัญญาขนาดไหน เวลานั้นมันเหนื่อยเมื่อยล้า ควรพักให้ย้อนเข้ามาสู่สมาธิ ทำสมาธิให้สงบตามเดิม
เมื่อจิตมันเพลินทางด้านปัญญาแล้วส่วนมากจิตมันยังไม่อยากเข้าสมาธิ เมื่อมันไม่เข้าสมาธิจริงๆ เอาคำบริกรรมติดเข้าไปคือให้มันอยู่ในอารมณ์เดียว ถ้าออกจากนี้ปั๊บมันจะพุ่งออกด้านปัญญา เพราะฉะนั้นจึงให้ยับยั้งเข้ามาสู่สมาธิด้วยคำบริกรรม เช่นพุทโธ หรือคำบริกรรมใด ที่เราเคยสนิทติดกับจริตนิสัยของเรา ให้สติจ่ออยู่กับคำบริกรรมอย่างเดียว แล้วจิตก็จะค่อยสงบแน่วลงสู่สมาธิ เมื่อเข้าสู่สมาธิแล้วหยุด การพินิจพิจารณาสิ่งใดทั้งหมดให้พักทั้งหมด เรื่องทางปัญญาที่แยกขันธ์ แยกเขาแยกเราแยกทุกส่วนนั้นเป็นเรื่องของปัญญาจะพักหมด จิตเข้าสู่สมาธิเพื่อพักเอากำลัง
ตอนที่จิตอยู่ในสมาธิและยังไม่ได้ก้าวออกทางด้านปัญญา สมาธินี่แน่นหนา มั่นคงเหมือนหิน แต่พอจิตได้ก้าวออกทางด้านปัญญาแล้ว ปัญญาจะทำให้เพลินในการพิจารณาแก้ไขถอดถอนกิเลส ดีไม่ดีมันจะตำหนิสมาธิว่านอนตายเฉยๆ ไม่ได้แก้กิเลส ปัญญาต่างหากที่แก้กิเลสโดยที่มันจะเพลินทางแก้กิเลสโดยไม่คำนึงถึงการพัก ผ่อนหย่อนตัวในทางสมาธิเลย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องหักเข้ามาสู่สมาธิ พอเข้าสู่สมาธิแล้วจิตจะแน่ว นั่นหละตอนนี้เหมือนถอนเสี้ยนถอนหนาม สบาย “เบาหมดเลย” นี่จึงเรียกว่าพักจิตพักแบบมีสติกำกับ
กำลังทางด้านปัญญามันรุนแรง พอพักสมาธิได้กำลังวังชาแล้ว ถ้าเราเบามือทางสติกับสมาธิหน่อยนึงมันจะพุ่งเข้าทางปัญญาเลย เวลาพิจารณาทางด้านปัญญาไม่ให้มาสนใจกับสมาธิให้ทำงานทางด้านปัญญาโดยถ่าย เดียว พิาจรณาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อเหน็ดเหนื่อยทางด้านปัญญาแล้วให้ถอนจิตเข้ามาสู่สมาธิเพื่อพักเครื่อง พักจิต อย่าไปสนใจกับทางปัญญา เวลาเข้าสู่สมาธิให้ทำหน้าที่พักโดยตรง บังคับเอาไว้ให้เข้าพักนี่เรียกว่า อปัณณกปฏิทา
เวลาจิตทำงาน (ออกสู่ปัญญา) ให้ทำจริงๆ แต่เวลาจิตเมื่อยล้าคือปัญญาพิจารณาเต็มสัดเต็มส่วนแล้ว ให้ย้อนเข้ามาพักผ่อนจะเป็นสมาธิก็ได้ จะพักโดยนอนหลับก็ได้ ในเวลาเมื่อจิตสงบแล้วนอนหลับสบาย แต่เวลาได้เพลินทางปัญญามันไม่หลับนะตลอดรุ่งมันก็ไม่หลับ มันจะติดเพลินทางปัญญาจึงต้องหักจิตมาสู่สมาธิ เมื่อจิตเข้าสู่สมาธิหักลงไปเข้าพักใจนอนหลับก็ได้
ปัญญานี้เป็นตัวฟาดฟันกามราคะที่มันมีหนาแน่นในใจ ซึ่งไม่มีอะไรไปแตะต้องมันได้ จึงต้องเอาปัญญาฟาดเข้าไปสู่ ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้ พุง ให้แตกกระจัดกระจายออกไปเป็นชิ้นนั้นชิ้นนี้ มีแต่ความสกปรกโสมมเต็มเนื้อเต็มตัว ความรักความชอบว่าสวยว่างามมันก็จางไป สุดท้ายความสวยงามไม่มีในกายของคนเรา
ป่าช้าผีดิบ (ร่างกาย) อยู่ที่นี่หมด นี่ปัญญาก็สอดเข้าไปรู้ ตัณหาราคะจะเบาลง ทีนี้เวลาพิจารณาอสุภะมากเท่าไหร่ราคะตัณหาเบาแทบไม่ปรากฏ บางทีไม่ปรากฏเลย ต้องได้ทดลองดูหลายแบบหลายฉบับ เช่นเราเดินเข้าไปในกลุ่มหญิงสาวๆ สวยๆ นะ ทางด้านสติปัญญาของเรามันจะพิจารณาผ่านอสุภะ หญิงสวยๆ งามๆ จะไม่มีคำว่าสวยว่างาม อสุภะนี่จะตีแตกกระจัดกระจายผ่านเข้าไปในคนๆ นั้น จะไม่มีกำหนัด นี่คือสติปัญญาพิจารณาทางอสุภะซึ่งแก่กล้าสามารถแล้ว อสุภะมันเตะทีเดียวขาดสะบั้นเลย มันเลยหาความสวยความงามจากผู้หญิงสาวสวยไม่ได้ ราคะตัณหาเกิดไม่ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก :
www.budpage.com