หลวงพ่อทองคำ หรือ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร
วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๖๖๑ ทางทิศตะวันตกของสถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
ตราประจำวัด คือ ภาพเทวดา ๓ องค์ นั่งประชุมกันบนบัลลังค์เมฆ พื้นหลังสีดำ ด้านนอกขอบทอง ด้านบนมีพุทธสุภาษิตประจำวัดคือ " อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก " แปลว่า "สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเจริญรุ่งเรืองด้วยปัญญา" และด้านล่างคือชื่อวัด
ประวัติและนามวัด วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นวัดโบราณสร้างเมื่อสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน เดิมมีชื่อว่า วัดสามจีนใต้ มีคำเล่ากันว่าวัดสามจีน เดิมมีอยู่สามวัด คือ วัดสามจีนอยู่ในคลองบางอ้อด้านตรงข้ามกับเทเวศร์วัดหนึ่ง วัดสามจีนเหนือ บางท่านก็ว่าอยู่ที่บางขุนพรหม บางที่ก็ว่าอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี สำหรับวัดที่อยู่บางขุนพรหม คือ วัดสังเวชวิศยาราม ส่วนที่อยู่จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ วัดโชติการาม อำเภอเมืองนนทบุรี และวัดสามจีนใต้ ได้แก่ วัดไตรมิตรวิทยาราม
เหตุที่เรียกว่าวัดสามจีน ก็เนื่องด้วยเหตุว่ามีชาวจีน ๓ คนได้ช่วยกันก่อสร้างขึ้นมาจึงได้นามว่า “วัดสามจีน”
วัด ไตรมิตรวิทยารามเดิมมีพื้นที่ราบลุ่ม มีลักษณะน้ำขังได้ทั่วไป ปัจจุบันได้ทำการปรับปรุงพื้นที่ของวัดทั้งหมดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั่ว ทั้งภายในบริเวณวัด และวัดมีเขตอุปจารวัดดังนี้
ทิศเหนือ
ก่อนจะมาเป็น "วัดไตรมิตรวิทยาราม" สภาพวัดไตรมิตรวิทยาราม ครั้งมีนามว่า วัดสามจีนใต้ สภาพบริเวณทั่ว ๆ ไปในบริเวณวัดนั้น เต็มไปด้วยสิ่งสกปรกโสโครก ดังที่ได้ปรากฏในเอกสารรายงาน การประชุมคณะกรรมการปรับปรุงสุขลักษณะวัดสามจีนใต้ วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ความตอนหนึ่งว่า
"เวลา ๑๐.๐๐ น. ผู้มาประชุมได้มาพร้อมกันแล้ว ท่านเจ้าอาวาสขอให้ นายสนิท เทวินทรภักติ พาคณะ กรรมการดูสถาน ที่วัดนี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลสามแยก อำเภอสัมพันธวงศ ์จังหวัดพระนคร มีอาณาเขตติดต่อกัน ดังนี้
ทิศ เหนือ จรดกำแพงหลังตึกแถวถนนพระราม๔ ทิศตะวันตก จรดที่ดินของพระวรวงศ์เธอ พระองเจ้าจุลจักรพงศ์ส่วนหนึ่งแล้วต่อมาติดกำแพงหลังตึกแถว ถนนกลันตันทิศไต้จรดกำแพงหลังตึกถนนเจริญกรุงทิศตะวันออกจรดแนวคลอง วัดสามจีนใต้ ซึ่งกรมโยธาเทศบาลกำลังจัดถมอยู่แล้วย่อหักมุมไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียง เหนือ ตามแนวคูวัดซึ่งราษฎรที่เช่าตึกแถวทางถนนหน้าโรงฆ่าสุกรหัวลำโพง ได้ปลูกเพิงรุกล้ำเนื้อที่คูซึ่งเป็นที่สาธารณะนี้ออกมารกรุงรัง เพื่อเป็นที่พักสุกรสำหรับส่งเข้าโรงฆ่า สิ่งปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่นี้ด้านทิศเหนือ มีโรงเรียนเป็นตึก ๓ ชั้นกำลังปลูกอยู่ ถัดไปถึงประตูและถนนทางเข้าแล้วจึงถึงที่ดินผืนหนึ่ง ที่วัดให้ผู้เช่าตัดตอนไปปลูกเป็นห้องแถวชั้นเดียวเตี้ย ๆ หลายแถว ให้บุคคลเช่าอาศัยอยู่ ห้องแถวเหล่านี้มีหลังคาฝาและพื้นชำรุด ทรุดโทรม ปุปะ เบียดเสียดยัดเหยียดกัน มีซอกทางเดินแต่เพียงไม่เกิน ๑ เมตร แถมมีน้ำโสโครกขังเฉอะแฉะอยู่ที่ถนนและข้างถนน กับใต้ห้องแถวเหล่านี้ทั่วไป มีฝูงเป็ดและสุกรเที่ยวหาอาหารอยู่ระเกะระกะ มีอุจจาระและกลิ่นปัสสาวะตลบอบอวน ผู้เช่ามีอาชีพในการทำเส้นหมี่ก็มี ได้ตากเส้นหมี่ไว้ หน้าห้องแถวเลอะเทอะตลอดไป หาบของเร่ขาย ได้วางสินค้า ไว้เลเพลาดพาด ที่ทำขนมก็มีเศษอาหารทิ้งเกลื่อนกล่น แมลงวันตอมเป็นหมู่ใหญ่ หญิงที่เช่าห้องรวมกันอยู่หลาย ๆ คน มีท่าทางอันน่าสงสัยจะซ่อนเร้น กระทำการอันลับลี้ซึ่งผิดศีลธรรมก็มี สภาพของบริเวณนี้ นอกจากทำให้เกิดที่สกปรกโสมมเพาะเชื้อโรคแล้ว ยังเป็นสถานที่ ซึ่งมิบังควรจะอยู่ในที่ของลานวัดใกล้กุฏิพระภิกษุถึงเพียงนี้ อันจะเป็นเหตุนำความเสื่อมเสียแก่พุทธศาสนาเป็นอันมาก
ถัดไปเป็นเนื้อที่ของ พระวรวงศ์เธอ พระองเจ้าจุลจักรพงศ์ มีห้องแถวชั้นเดียวหลายแถว สภาพของห้องแถว ผู้เช่าอาศัย และพื้นที่มีลักษณะอย่างเดียวกับห้องแถว ที่ปลูกอยู่ในที่วัดซ้ำมืดครึ้มและอบอ้าว กรรมการทุกท่าน เมื่อได้สำรวจถึงที่เหล่านั้น รู้สึกรังเกียจและสะอิดสะเอียนในสภาพและความเป็นไปของห้องแถวทั้งสองตอนเป็น อย่างยิ่ง มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า สมควรให้รื้อเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพที่นี้ให้มีสภาพและใช้ประโยชน์ให้ถูกทางจน ดีขึ้น ต่อจากห้องแถวในที่ดิน ทั้งสองแปลงดังที่กล่าวมาแล้ว มีทางเดินกว้าง ประมาณเมตรเศษกับรั้วเตี้ย ๆ กันอยู่ครึ่งหนึ่ง เป็นกุฏิบ้าง หอระฆังบ้าง ศาลาบ้าง หอสวดมนต์บ้าง หอไตรบ้าง ปลูกลับซับซ้อน สูง ๆ ต่ำ ๆ ไม่เป็นแถวเป็นแนว ระเกะระกะชำรุดทรุดโทรม เก่าคร่ำคร่า ปุปะ รั่วไหล จนเหลือที่จะซ่อมให้ดีได้ ปลูกตลอดไปหลายหลัง จนจดแนวหลังตึกทางด้านถนนเจริญกรุงมีสิ่งปลูกสร้างที่มีสภาพ เช่นเดียว กับที่กล่าวแล้ว ซ้ำยังมีกุฏิทรุดเอียงกะเท่เร่อีกหลายหลัง จนไม่น่าไว้วางใจที่จะใช้เป็นที่อาศัยของภิกษุสามเณรได้ กุฏิชนิดนี้มีปลูกตลอดมาจนจดแนวคลองข้างวัดสามจีน ถัดจากนี้ ตอนกลางคือโบสถ์ หมู่เจดีย์ แล้วถึงลานแคบ ๆ ข้างโบสถ์ ทางแนวริมคลองต่อไปมีศาลาหลังหนึ่งมีฝาด้านเดียว อีก ๓ ด้าน ไม่มีฝา ใช้สบง จีวรเก่า ๆแขวนนุงนังบังแดด ที่นี้ก็ใช้เป็นที่อาศัยของพระภิกษุด้วย ถัดจากศาลานี้ไปเป็นที่เก็บศพ และเผาศพ ด้วยเตาใหญ่ ใช้ฟืน มีปล่องระบายควัน
ต่อ จากที่นี้ เป็นโรงเรียน ๒ ชั้น ถัดไปถึงเจดีย์องค์ใหญ่ แล้วถึงโรงเรียน ๒ ชั้นข้างล่างก่ออิฐ ข้างบนเป็นไม้ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของวัดสามจีน บริเวณโรงเรียน ทั้ง ๓ หลังนี้ ได้กั้นรั้วกันเขตไว้ กำลังจัดการถมรื้อถอนถากถางก่อสร้างจัดทำเพื่อให้ได้สุขลักษณะ”
จะเห็นได้ว่า สภาพของวัดสามจีนในเวลานั้นมีสภาพเป็นอย่างไร คณะกรรมการปรับปรุงสุขลักษณะวัดสามจีนใต้ครั้งนั้นมี นาวาโท หลวงศุภชลาศัย ร.น. อธิบดีกรมพลศึกษา เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุง คณะกรรมการปรับปรุงวัดสามจีนใต้เริ่มงานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ ในระยะแรก ได้พบอุปสรรคมากมายหลายประการ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๐จึงได้รับการอนุมัติจากมหาเถรสมาคม ให้ดำเนินการจัดการรื้อถอนห้องแถวรุงรังในลานวัด และกุฏิเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมออกเสีย แล้วจัดการถมพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ตลอดคลองคูและสระให้เป็นลานวัดเป็นที่สะอาดเรียบร้อย เพื่อใช้เป็นที่ก่อสร้างเสนาสนะสงฆ์ และโรงเรียนมัธยมวัดสามจีนใต้ให้ถูกสุขลักษณะ
การก่อสร้างครั้งปรับปรุงวัด หลัง การก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ในครั้งนั้นได้วางผังการก่อสร้างให้กุฏิอยู่เป็นแถวเป็นแนว ไม่สับสน ปนเป ให้มีจำนวนห้องที่อยู่อาศัยพอทั้งพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัด ตลอดกระทั่งให้มีห้องน้ำห้องส้วมพร้อม และได้วางกุฏิให้เพียงพอต่อพระภิกษุประมาณ ๗๐ – ๘๐ รูปเท่านั้น ฉะนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงได้สร้างกุฏิคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น จำนวน ๑๔ หลัง ขึ้นแทนกุฏิที่ได้ทำการรื้อถอนไปนั้น ศาลาการเปรียญของวัดเป็นศาลาไม้มีสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมลงอย่างมาก จวนจะพังมิพังแหล่ คณะกรรมการได้จัดการรื้อถอนแล้วได้สร้างศาลาการเปรียญเป็นศาลาคอนกรีต ๒ ชั้น ขึ้นแทนของเก่า ศาลารายที่ใช้เป็นโรงเรียนสอนบาลีและนักธรรมนั้น มีสภาพเก่าคร่ำคร่า ซวนเซ ก็ได้ทำการรื้อถอนออก แล้วสร้างเป็นตึกคอนกรีต ๒ ชั้นขึ้นแทน สำหรับใช้เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมเพื่อเล่าเรียนบาลีและนักธรรม เตาเผาศพของเก่าได้รื้อออกแล้ว สร้างเตาเผาแบบทันสมัยขึ้น
อาคารจำลอง "พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา" พระอุโบสถหลังปัจจุบันนี้ เป็นพระอุโบสถที่ได้สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงเสด็จมาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงวิศาลศิลปกรรม เป็น ผู้ออกแบบพระอุโบสถ การก่อสร้างเป็นเฟอร์โรคอนกรีต ทรงจตุรมุข หลังคาสามชั้น มีชานรอบพระอุโบสถ บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ และพระอุโบสถหลังใหม่นี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตรประกอบการผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓
พระวิหาร เป็นอาคารหมู่ทรงไทยมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว ลักษณะ ๒ ชั้น กว้าง ๒๔ เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระสุโขทัยไตรมิตร
ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารสร้างใหม่ ตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้นกว้าง ๑๘ เมตรยาว ๒๔ เมตร ลักษณะเป็นเพอร์โรคอนกรีต สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนแล้ว
พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นโดยความร่วมมือของกรมศิลปากร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเยาวราช และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สร้างจากหินอ่อนทรงไทยวิจิตรศิลป์ จุดประสงค์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร (พระพุทธรูปทองคำ) มีทั้งหมด ๔ ชั้น เริ่มดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท ส.บุญมีฤทธิ์วิศวกรรม เมื่อเดือนตุลาคม ปี ๕๐ มีระยะเวลาในการดำเนินงานประมาณ ๒ ปี ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง