คุณสมบัติของพระโสดาบัน พระโสดาบัน หมายถึงบุคคลที่สามารถในการเริ่ม*ละสังโยชน์ ๓ ข้อแรก(เริ่มละความหลงหรืออวิชชา)ได้บ้างแล้ว ด้วยการเริ่มมีความรู้หรือความเข้าใจในเรื่องอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง(มีดวงตาเห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน) รายละเอียดของสังโยชน์ ๓ ข้อที่พระโสดาบันเริ่มละได้ มีดังนี้
๑. ความเห็นว่าเป็นตัวของตนด้วยกิเลส(สักกายทิฏฐิหรือสังโยชน์ข้อที่ ๑) คือ การมีความเห็นหรือความคิดที่ยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลสว่า ร่างกายและจิตใจ(ขันธ์ ๕)ที่มีอยู่นี้ เป็นเรา หรือเป็นของเรา หรือต้องเป็นไปตามที่เราปรารถนา หรือคงอยู่ตลอดไป(มีอุปาทานขันธ์ ๕ หรือมีอัตตา) ทั้งที่ร่างกายและจิตใจเป็นไตรลักษณ์ คือ เป็นของไม่เที่ยง(อนิจจตา) คงสภาพอยู่อย่างเดิมไม่ได้(ทุกขตา) ต้องเสื่อมสลายหรือดับไปเป็นธรรมดา(อนัตตา) จะช้าหรือเร็วก็แล้วแต่ เหตุปัจจัย.
ข้อความที่ว่า “ความเห็นว่าเป็นตัวของตน” เป็นความหมายของสักกายทิฏฐิในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ซึ่งเข้าใจได้ยาก น่าจะใช้ภาษายุคปัจจุบันว่า “ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕” แทน.
ตามธรรมชาติและความเป็นจริงแล้ว เมื่อเรายังมีชีวิตและมีสติสัมปชัญญะอยู่ ชีวิต(ร่างกายและจิตใจ)นี้เป็นเรา หรือเป็นของเรา และเราก็อยากให้เป็นไปตามที่เราปรารถนาด้วยกันทั้งนั้น แต่ขอเพียงอย่างเดียวคือ อย่าคิดด้วยกิเลสเท่านั้นเอง. ถ้าไม่คิดด้วยกิเลส ความเป็นตัวของตน(สักกายทิฏฐิ)ด้วยกิเลสก็จะไม่เกิดขึ้นในจิตใจ.
ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ นั้น เกิดขึ้นจากการวิวัฒนาการทางจิตใจของมนุษย์เพื่อความอยู่รอดของชีวิต. ดังนั้น มนุษย์จึงมีข้อมูลของความยึดมั่นถือมั่นฝังแน่นอยู่ในความจำ(อาสวะหรือ อวิชชาสวะ) และครอบงำจิตใจให้คิดด้วยความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ อยู่เสมอ.
การมีความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ (สักกายทิฏฐิ) ก็เพราะมีความหลง.
๒. ความลังเลสงสัย(วิจิกิจฉาหรือสังโยชน์ข้อที่ ๒) คือ ความไม่รู้แจ้งชัดในอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ(มีความหลงหรือมีอวิชชา) จึงทำให้ยังมีความลังเลสงสัยในอริยสัจ ๔ เพราะยังรู้ไม่หมด.
ตัวอย่างเรื่องความลังเลสงสัยที่ช่วยให้เข้าใจความหมายได้ง่าย คือ เมื่อเรียนจบวิชาใดด้วยคะแนนที่ดี เป็นการแสดงว่า มีความรู้ในวิชานั้นดี. การมีความรู้ดีในวิชาใด ก็จะไม่มีความลังเลสงสัยในวิชานั้น ๆ อีกต่อไป.
การมีความลังเลสงสัยในอริยสัจ ๔ (วิจิกิจฉา) ก็เพราะมีความหลง.
๓. ความถือมั่นศีลพรตต่าง ๆ นอกพระพุทธศาสนา(สีลัพพตปรามาสหรือสังโยชน์ข้อที่ ๓) คือ ความคิดที่ยึดมั่นถือมั่นในข้อปฏิบัติ(ศีลพรต)ต่าง ๆ เพื่อการดับความทุกข์ที่ไม่ตรงกับวิธีการในมรรคมีองค์ ๘ เช่น การขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือ การทรงเจ้าเข้าผี ดูหมอ บนบานศาลกล่าว ปล่อยสัตว์เพื่อแก้กรรม เป็นต้น.
ความคิดที่ยึดมั่นถือมั่นในข้อปฏิบัติ(ศีลพรต)ต่าง ๆ นอกพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นจากการไม่มีความรู้แจ้งชัดในอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ(มีความหลงหรือมีอวิชชา) จึงทำให้ไม่สามารถดับกิเลสและกองทุกข์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
ข้อความที่ว่า “ความถือมั่นศีลพรตต่าง ๆ นอกพระพุทธศาสนา” นั้น น่าจะใช้ภาษาในยุคปัจจุบันว่า “การปฏิบัติธรรมที่ไม่ตรงกับมรรคมีองค์ ๘ “.
การมีความยึดมั่นถือมั่นในศีลพรตต่าง ๆ นอกพระพุทธศาสนา(สีลัพพตปรามาส) ก็เพราะมีความหลง.
สังโยชน์ข้อที่ ๑ - ๓ เป็นเรื่องของความหลง(อวิชชา) การจะเริ่มลดหรือเริ่มละความหลง(เริ่มดับอวิชชา)ได้นั้น จำเป็นจะต้องศึกษาอริยสัจ ๔ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามสมควร.
บุคคลที่ดับความหลงได้หมด(เสร็จกิจทางธรรม) คือ พระอรหันต์.
พระโสดาบันจึงเป็นเพียงผู้เริ่มดับความหลง*(เริ่มดับอวิชชา) เพราะเพิ่งเริ่มศึกษาอริยสัจ ๔ และฝึกปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง. ดังนั้น พระโสดาบันจึงต้องมีกิจที่ต้องทำอีก คือ ต้องศึกษาอริยสัจ ๔ และฝึกปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ เพิ่มเติมอีก จนกว่าจะพ้นความทุกข์ได้อย่างต่อเนื่อง(เป็นพระอรหันต์).
เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยังต้องศึกษา ทบทวน และปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเสื่อมหายของข้อมูลทางธรรมในความจำ และเพิ่มความรู้และความสามารถทางธรรมให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เป็นผลให้มีข้อมูลทางธรรมในการสั่งสอนผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ.
ขอบพระคุณข้อมูลจาก :
http://www.watnai.org