KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับรวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Galleryบทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะความสัมพันธ์ระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระปัจเจกพุทธเจ้า
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ความสัมพันธ์ระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระปัจเจกพุทธเจ้า  (อ่าน 9027 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: มีนาคม 25, 2010, 01:59:00 PM »



ความสัมพันธ์ระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระปัจเจกพุทธเจ้า

ความนำ


              ในประเพณีหรือธรรมเนียมของพระพุทธศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า (พุทธะ)๑ ที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระสัพพัญญู พุทธเจ้าไม่ว่าทั้งด้านความรู้หรือคุณธรรม แต่ปรากฏว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเป็นพระพุทธเจ้าหรือพุทธะที่ถูกละเลย ไม่ได้รับความสนใจใฝ่ศึกษาจากชาวพุทธเท่าที่ควรจะเป็น
                  
              พระปัจเจกพุทธเจ้าคือพุทธะประเภทหนึ่งที่ตรัสรู้อริยสัจ ๔ เฉพาะตนเอง ปรมัตถโชติกา อรรถกถาของสุตตนิบาตอธิบายว่า การบรรลุธรรมของพระปัจเจกพุทธเจ้า เปรียบเสมือนความฝันที่คนใบ้ฝัน และเปรียบเสมือนรสกับข้าวที่พรานป่าได้ลิ้มในเมืองฉะนั้น๒ จึงไม่อาจสอนให้บุคคลอื่นรู้ตามตนได้ (คือสอนได้แต่ไม่อาจให้รู้ตามได้) ไม่ก่อตั้งหรือสถาปนาในรูปสถาบันศาสนา แต่เน้นอนุโมทนาแก่ผู้ถวายทานในท่าน อุบัติขึ้นในช่วงพุทธันดร คือ ช่วงเวลาที่โลกว่างจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ จึงไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติขึ้น

               พระปัจเจกพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญพุทธการกธรรมนับแต่ตั้งความปรารถนาแล้วนานถึง ๒ อสงไขยกับแสนกัป พุทธการกธรรมนั้นได้แก่ บารมี ๑๐ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘

              พระปัจเจกพุทธเจ้าแต่ละองค์มีประวัติคล้ายกันเป็นส่วนใหญ่ คือ เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ หรือคหบดี ในสมัยโบราณที่เบื่อหน่ายในโลกิยสมบัติ ได้ออกบวชศึกษาพระธรรมจนบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ เมื่อบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณแล้ว ก็ไปชุมนุมที่เขาคันธมาทน์กูฏ ซึ่งเป็นยอดเขาแห่งหนึ่งของเทือกเขาหิมพานต์ หรือหิมาลัย มีฝูงช้างฉัททันต์คอยปรนนิบัติอยู่เป็นนิจ ถึงแม้ว่า เรื่องของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้จะจบลงด้วยเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน คือ ตัวเอกของเรื่องออกบวชแล้วตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแต่รายละเอียดของ เนื้อเรื่องจะแตกต่างกันออกไป

องค์ธรรมของบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

             เมื่อ ได้ศึกษาปรมัตถโชติกาแล้ว พบว่า บุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ต้องประกอบด้วยองค์ธรรม ซึ่งเรียกว่าธรรมสโมธาน (การประชุมธรรม) ๕ ประการ ๓ คือ:-

๑. ความเป็นมนุษย์ (มนุสฺสตฺตํ) คือ ในชาติที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น เป็นเทวดาไม่ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต หรือ อสุรกาย
๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ (ลิงฺคสมฺปตฺติ) คือ เป็นเพศชายเท่านั้น จะเป็นผู้หญิง กะเทยและอุภโตพยัญชนก (บุคคลที่มี ๒ เพศในคนเดียวกัน) ไม่ได้ แต่กระนั้น ผู้หญิงสามารถเป็นมารดาของผู้ที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้
๓. การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวกิเลสทั้งหลาย (วิคตาสวทสฺสนํ) คือ การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระอนุพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง
๔. อธิการ (อธิกาโร) คือกระทำอันยิ่ง ต้องบริจาคชีวิตของตนเองแล้วจึงตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
๕. ความพอใจ (ฉนฺทตา) คือ ความเป็นผู้ปรารถนาเพื่อทำให้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แม้ว่าจะยากลำบากประสบพบปัญหาอุปสรรคมากเพียงใดก็ตาม อาทิเช่น มีคนกล่าวว่า ใครก็ตามที่สามารถเหยียบสากลจักรวาล อันเต็มไปด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลวไฟได้ ใครก็ตามที่สามารถเหยียบข้ามสากลจักวาลอันเกลื่อนกล่นด้วยหอกและหลาวได้ ใครก็ตามที่สามารถลุยข้ามสากลจักรวาลอันเต็มไปด้วยน้ำปริ่มฝั่งได้ ใครก็ตามที่สามารถก้าวล่วงสากลจักรวาลซึ่งดารดาษด้วยกอไผ่ชั่วนิรันดรได้ จึงตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ บุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าบอกว่า "เราสามารถทำเช่นนั้นได้"
มีคาถาแสดงไว้ว่า

"มนุสฺสตฺตํ ลิงฺคสมฺปตฺติ วิคตาสวทสฺสนํ อธิกาโร ฉนฺทตา เอเต อภินีหารการณาฯ"
"มีเหตุแห่งปณิธานขึ้นพื้นฐาน (ก็เพราะธรรมสโมธาน ๕ ประการ) เหล่านี้ คือ ความเป็นมนุษย์, ความถึงพร้อมด้วยเพศ,การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ, อธิการและความพอใจ"


แต่สำหรับบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องประกอบด้วยองค์ธรรมซึ่งเรียกว่า ธรรมสโมธาน ๘ ประการ๔ คือ:-

๑. ความเป็นมนุษย์ (มนุสฺสตฺตํ) มีนัยเดียวกับองค์ธรรมของบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ (ลิงฺสมฺปตฺติ) ก็มีนัยเดียกัน
๓. เหตุ (เหตุ) คือ ความถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ ในชาติที่ตั้งปณิธานเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าพยายามอย่างเต็มกำลัง จะสามารถเป็นพระอรหันต์ได้
๔. การเห็นพระศาสดา (สตฺถารทสฺสนํ) คือการเห็นเฉพาะพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง อาทิเช่นสุเมธบัณฑิตได้เห็นพระทีปังกรพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์แล้วจึงตั้ง ปณิธาน
๕. การบรรพชา (ปพฺพชฺชา) คือ ความเป็นอนาคาริก ต้องเป็นนักบวชผู้เป็นกรรมวาทีและกิริยวาที อาทิเช่น สุเมธบัณฑิตเป็นดาบสชื่อสุเมธ จึงตั้งปณิธาน
๖. ความถึงพร้อมแห่งคุณ (คุณสมฺปตฺติ) คือการได้คุณธรรมหรือธรรมวิเศษมีฌานเป็นต้น
อาทิเช่น สุเมธบัณฑิตได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ แล้วจึงตั้งปณิธาน
๗. อธิการ (อธิกาโร) มีนัยเดียวกัน
๘. ความพอใจ (ฉนฺทตา) ก็มีนัยเหมือนกัน

มีคาถาแสดงไว้ว่า
"มนุสฺสตฺตํ ลิงฺคสมฺปตฺติ เหตุ สตฺถารทสฺสนํ ปพฺพชฺชา คุณสมฺปตติ อธิกาโร ฉนฺทตา
อฎฺฐธมฺมสโมธานา อภินีหาโร สมิชฺฌติฯ"
"ปณิธานขั้นพื้นฐานย่อมสำเร็จได้ ก็เพราะธรรมสโมธาน ๘ ประการ คือ ความเป็นมนุษย์, ความถึงพร้อมด้วยเพศ, เหตุ, การเห็นพระศาสดา, การบรรชา, ความถึงพร้อมแห่งคุณ, อธิการและความพอใจ"
ส่วนผู้ที่ตั้งปณิธานเป็นพระอัครสาวกทั้งสองและพระอสีติมหาสาวก ต้องมีองค์ธรรม ๒ ประการ คือ อธิการ หรือการกระทำอันยิ่ง (อธิกาโร) และความพอใจ (ฉนฺทตา)๕

หลักคำสอนของพระปัจเจกพุทธเจ้า

                ปรมัตถโชติกา ๖ เล่าเรื่องของสุสีมมาณพผู้ปรารถนาจะเห็นเบื้องปลายของศิลปะจึงถูกส่งไปหา ฤาษีที่ป่าอิสิปตนะ หลังจากไปป่าอิสิปตนะแล้ว ได้เข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วถามว่า "ท่านผู้เจริญ ท่านรู้เบื้องปลายของศิลปะบ้างไหม?"
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า "เออ เรารู้สิท่าน"

สุสีมมาณพอ้อนวอนว่า "โปรดให้ข้าพเจ้าศึกษาเบื้องปลายของศิลปะนั้นเถิด"
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย "ถ้าอย่างนั้นก็บวชเสียสิ ท่านผู้ไม่ใช่นักบวชศึกษาไม่ได้ดอก"
สุสีมาณพ "ดีละ ขอรับ โปรดให้ข้าพเจ้าบวช แล้วให้ศึกษาเบื้องปลายของศิลปะนั้นเถิด"
พระ ปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้เขาบวชแล้ว ไม่สามารถให้เขาเจริญกรรมฐานได้ ให้ศึกษาได้แต่อภิสมาจาร (ความประพฤติที่ดีงาม) อาทิเช่น ท่านพึงนุ่งอย่างนี้ พึงห่มอย่างนี้ เขาศึกษาอยู่ในข้อนั้น แต่เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ไม่นานนักจึงบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ
ใน วรรณกรรมของพระพุทธศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้าสอนแต่เรื่องอภิสมาจารเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งท่านก็สอนธรรมเช่นกัน แต่สอนเพียงสั้นๆ อาทิเช่น จงสิ้นราคะ จงสิ้นโทสะ จงสิ้นโมหะ จงสิ้นคติ จงสิ้นวัฏฏะ จงสิ้นอุปธิ จงสิ้นตัณหา โดยไม่มีหลักคำสอนที่เป็นระบบเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

             อีก ประการหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าคงจะเป็นเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้แล้วทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์ เพราะเหตุที่ว่า "ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยของตรรกวิทยา ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ก็ถ้าเราพึงจะแสดงธรรม สัตว์อื่นไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้นจะพึงเป็นความเหนื่อยเปล่า ความลำบากเปล่าแก่เรา"

            ท้าวสหัมบดีพรหมจึงทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์ โดยให้เหตุผลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ของพระองค์ จงทรงแสดงธรรมเถิด เพราะสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็มีอยู่ เขาจักเสื่อมเสียเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีโดยแท้"๗ แต่จากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสลัดทิ้งความท้อพระทัยเสีย แล้วทรงตัดสินพระทัยแสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์
จาก หลักฐานข้างต้นนี้ อาจจะวิเคราะห์ได้ว่า การตัดสินใจเช่นนี้ เป็นคุณลักษณะพิเศษเฉพาะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นไม่สามารถเอาชนะความคิดที่ว่าธรรมเป็นสิ่งที่ บุคคลอื่นรู้ตามได้ยากนั้นได้ จึงไม่ได้เตรียมแสวงหาสาวกและสอนให้รู้แจ้งเช่นเดียวกับตน แต่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นรู้สึกจะสมัครใจช่วยเหลือบุคคลอื่นให้รู้แจ้ง โดยอาศัยความถึงพร้อมแห่งอุปนิสัยของผู้นั้นเป็นหลัก ดังนั้น ท่านจึงมิได้ก่อตั้งสถาบันศาสนาอันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.



เชิงอรรถ

๑. พระพุทธเจ้า (พุทธะ) มี ๔ ประเภท คือ ๑. พระสัพพัญญูพุทธเจ้า ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า ๓. พระจตุสัจจพุทธเจ้า ๔. พระสุตพุทธเจ้า ประเภทที่ ๓ และที่ ๔ เป็นพระสาวกพุทธเจ้าหรือพระอนุพุทธเจ้า
๒. สุตฺต.อ. ๑/๔๘.
๓. สุตฺต.อ. ๑/๔๗.
๔. สุตฺต.อ. ๑/๔๕.
๕. สุตฺต.อ. ๑/๔๘.
๖. สุตฺต.อ. ๒/๔๑-๔๒.
๗. วินย. ๔/๗-๘.




ความสัมพันธ์ระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระปัจเจกพุทธเจ้า
 
   
                 ในวรรณคดีพระพุทธศาสนาระบุไว้ บ่อยครั้งว่าพระปัจเจกโพธิสัตว์ เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง แต่ไม่อาจเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้นได้ แต่ในชาติต่อ ๆ มาจึงบรรลุปัจเจกโพธิญาณ แต่ในปัญจอุโบสถชาดก๘ เสนอความสัมพันธ์ที่กลับกันหรือตรงกันข้ามกัน คือ เสมือนหนึ่งว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ ส่วนพระโพธิสัตว์๙ เป็นศิษย์ พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือแก่พระโพธิสัตว์ขณะเป็นดาบส จนกระทั่งพระโพธิสัตว์นั้นสามารถข่มมานะ (ความถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่) ซึ่งขัดขวางมิให้ได้ฌานสมาบัติ
              
               เรื่องย่อของชาดกนี้มีดังนี้ ในสมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทราบความที่ดาบสนั้นมีมานะ ดำริว่า ดาบสผู้นี้มิใช่อื่นเลย ที่แท้เป็นหน่อเนื้อแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะบรรลุความเป็นสัพพัญญูในกัปป์นี้แหละ เราต้องข่มมานะของดาบสผู้นี้เสีย แล้วจึงมาจากป่าหิมพานต์ตอนเหนือ ขณะเมื่อดาบสนั้นกำลังนอนอยู่ในบรรณศาลานั่งเหนือแผ่นกระดานหินของดาบสนั้น ดาบสออกมาเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั่งเหนืออาสนะของตนอยู่ จึงเกิดความขุ่นเคืองใจเพราะความมีมานะ ปรี่เข้าไปหาตบมือตวาดว่า ฉิบหายเอ๋ย ไอ้ถ่อย ไอ้กาลกรรณี มานั่งเหนืออาสนะแผ่นกระดานนี้ทำไม ?

                ต่อแต่นั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าวกะดาบสนั้นว่า พ่อคนดี เพราะเหตุไรพ่อจึงมีแต่มานะ ? ข้าพเจ้าบรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้วในกัปป์นี้เอง พ่อก็จะเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พ่อเป็นหน่อเนื้อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บำเพ็ญบารมีมานานแล้ว ต่อไปจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่าสิทธัตถะ บอกชื่อ ตระกูล โคตร และพระอัครสาวกแล้วจึงแนะนำว่า พ่อยังจะมัวเอาแต่มานะ เป็นคนหยาบคายเพื่ออะไรเล่า? ข้อนี้ไม่สมควรแก่พ่อเลยดาบส นั้นแม้เมื่อท่านกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ยังไม่ไหว้ท่านอยู่นั่นเอง มิหนำซ้ำไม่ถามเสียด้วยว่า ข้าพเจ้าจักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อไร ? ครั้นพระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า เธอไม่รู้ถึงความเป็นใหญ่แห่งชาติและคุณของเรา หากเธอสามารถก็จงเที่ยวไปในอากาศเหมือนเราแล้วก็เหาะไปในอากาศโปรยฝุ่นที่ เท้าของตนลงบนชฎาของดาบสนั้น ไปยังป่าหิมพานต์ตอนเหนือดังเดิม พอท่านไปแล้ว ดาบสมีความสลดใจคิดว่า ท่านผู้นี้เป็นสมณะเหมือนกัน มีสรีระหนัก ไปในอากาศได้ดุจปุยนุ่นที่ทิ้งไปในช่องลม เพราะถือชาติ เรามิได้กราบเท้าทั้งคู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ยังไม่ถามเสียด้วยว่า เราจักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อไร? ขึ้นชื่อว่าชาตินี้จะทำอะไรได้ ศีลและจรณะเท่านั้นเป็นใหญ่ในโลก ถ้าเรายังมีมานะอยู่ จักไปนรกได้ที่นี้เราข่มมานะไม่ได้ ก็จักไม่ไปหาผลไม้ เข้าสู่บรรณศาลาสมาทานอุโบสถเพื่อข่มมานะ นั่งเหนือกระดานเลียบเป็นกุลบุตรผู้มีญาณใหญ่ ข่มมานะได้ เจริญกสิณ ได้อภิญญาและสมาบัติ ๘ ตายไปอุบัติ ณ พรหมโลก

การบิณฑบาตโปรดสัตว์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า

          พระปัจเจกพุทธเจ้าดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหารบิณฑบาตที่ชาวบ้านถวาย เช่นเดียวกับนักบวชอื่น ๆ คัมภีร์พระพุทธศาสนาระบุว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าบิณฑบาตมิใช่เพื่อยังชีพเท่านั้น แต่ยังมุ่งให้ประชาชนมีโอกาสประสบกุศลผลบุญโดยการใส่บาตรท่าน
ทายก ที่ถวายทานอย่างสมบูรณ์ คือครบทั้งสามกาล ก่อนถวายทานก็ดีใจ ขณะถวายทานมีจิตเลื่อมใส และถวายทานแล้วปลื้มใจไม่เสียดายไทยธรรมที่ถวายไปแล้ว สามารถพ้นจากอันตราย เราสามารถพบตัวอย่างของข้อนี้ได้จากเรื่องสังขพราหมณ์ ผู้มีชื่อเสียงทางบริจาคทาน ซึ่งวางแผนจะไปสุวรรณภูมิ เพื่อนำทรัพย์มาบริจาคคนยากจนและคนขัดสน

          เรื่องย่อ มีดังนี้๑๐ ในสมัยนั้น มีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ณ ภูเขาคันธมาทน์ พิจารณาเห็นสังขพราหมณ์กำลังจะเดินทางนำทรัพย์มา จึงตรวจสอบว่า บุรุษนี้ไปหาทรัพย์ จะมีอันตรายในทะเลหรือไม่หนอ? ก็ทราบว่า จะมีอันตรายจึงคิดว่า บุรุษนั้นเห็นเราแล้ว จะถวายร่มและรองเท้าแก่เรา เมื่อเรืออัปปางกลางทะเล เขาจะได้ที่พึ่งด้วยอานิสงส์ที่ถวายรองเท้า เราจะอนุเคราะห์เขา แล้วเหาะมาลง ณ ที่ใกล้พราหมณ์ เดินเหยียบทรายร้อนเช่นกับถ่านเพลิงเพราะลมแรงแดดกล้า ตรงมาหาสังขพราหมณ์

         สังขพราหมณ์นั้น พอเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้นเกิดความยินดีว่า บุญเขต (เนื้อนาบุญ) ของเรามาถึงแล้ว วันนี้เราควรจะหว่านพืช คือถวายทานลงในบุญเขตนี้ จึงรีบเข้าไปนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ เพื่ออนุเคราะห์ข้าพเจ้า ขอท่านได้ลงจากทางสักหน่อยแล้วเข้าไปที่โคนต้นไม้นี้ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปที่โคนต้นไม้ ก็พูนทรายขึ้นแล้วเอาผ้าห่มปูลาดนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วล้างเท้าด้วยน้ำที่อบและกรองใสสะอาด ทาเท้าด้วยน้ำมันหอม ถอดรองเท้าที่ตนสวมออกเช็ด ทาด้วยน้ำมันหอมแล้วสวมรองเท้าให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ถวายร่มและรองเท้าด้วยวาจาว่าท่านผู้เจริญขอท่านสวมรองเท้ากั้นร่มไปเถิด

          พระปัจเจกพุทธเจ้า เพื่อจะอนุเคราะห์ สังขพราหมณ์จึงรับร่มและรองเท้า และเพื่อจะให้ความเลื่อมใสเจริญยิ่งขึ้นจึงเหาะไปภูเขาคันธมาทน์ให้สังข พราหมณ์แลเห็น ด้วยอานิสงส์ของการถวายทานนั้น เมื่อเรืออัปปาง สังขพราหมณ์จึงได้รับการช่วยเหลือจากนางเทพธิดามณีเมขลา ผู้พิทักษ์รักษาทะเล และได้เรือแก้วหนึ่งลำ พร้อมทั้งทรัพย์สมบัติอีกเป็นอันมาก แต่ถ้าทายกหลังจากถวายทานแล้ว เกิดความเสียดายไทยธรรมที่ถวายไปแล้ว อานิสงส์ของการถวายทานจึงไม่สมบูรณ์เต็มที่มัยหกสกุณชาดก๑๑ เล่าเรื่องเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี ซึ่งเกิดความเสียดายหลังจากถวายไทยธรรมแก่พระตครสิขีปัจเจกพุทธเจ้า

           มี เนื้อหาย่อ ๆดังนี้:- ในสมัยอดีต เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี มีเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีผู้หนึ่ง ซึ่งไม่มีศรัทธา มีแต่ความตระหนี่ ไม่ได้ให้อะไรแก่ใคร ๆ ไม่สงเคราะห์ใคร ๆ วันหนึ่งเขาเดินทางไปเฝ้าพระราชา เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าตครสิขี กำลังเดินไปบิณฑบาต ไหว้แล้วจึงถามว่า ท่านผู้เจริญ ท่านได้ภิกษาแล้วหรือ? เมื่อท่านตอบว่า มหาเศรษฐี อาตมากำลังเดินไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่หรือ? จึงสั่งให้ชายคนหนึ่งว่า ไปเถิด เจ้าจงนำพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ไปบ้านของเรา ให้ท่านนั่งบนแท่นของเรา แล้วให้บรรจุอาหารที่เขาเตรียมไว้สำหรับเราให้เต็มบาตรแล้วถวายไป ชายคนนั้นนำพระปัจเจกพุทธเจ้าไปเรือนแล้วให้นั่ง บอกให้ภรรยาเศรษฐีทราบ ให้บรรจุอาหารที่มีรสเลิศนานาชนิดให้เต็มบาตรแล้วถวายท่านไป ท่านรับภิกษาแล้วได้ออกจากนิเวศน์ของเศรษฐีแล้วเดินไปตามถนน เศรษฐีกลับจากพระราชวังเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงไหว้แล้วถามว่า ท่านผู้เจริญท่านได้รับภิกษาแล้วหรือ? พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นตอบว่าได้แล้ว ท่านมหาเศรษฐี ปรากฏว่าเศรษฐีนั้นแลดูบาตรแล้วไม่อาจทำจิตให้เลื่อมใสได้ คิดว่าอาหารน ี้ ทาสหรือกรรมกรกินแล้วคงทำงานแม้ที่ทำได้ยาก น่าเสียดายหนอ ! เราเสื่อมเสียทรัพย์สินเสียแล้ว

            ฉะนั้น เพราะการถวายภิกษาแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า เขาจึงได้รับทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก แต่ไม่อาจใช้สอยทรัพย์เหล่านั้นได้เพราะไม่สามารถทำอปรเจตนา คือเจตนาดวงหลัง ให้ประณีต หมายถึงว่า ถวายภิกษาแล้วเกิดความเสียดายในไทยธรรมที่ถวายไป

มติของอรรถกถาเกี่ยวกับคุณธรรม และความรู้
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระปัจเจกพุทธเจ้า, และพระสาวก


ปรมัตถโชติกา ๑๒ ได้แบ่งประเภทของสรรพสัตว์ ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูงไว้ดังนี้:-

สัตว์ที่มีวิญญาณมี ๒ ประเภท คือ สัตว์ดิรัจฉานและมนุษย์
มนุษย์มี ๒ เพศ คือสตรีและบุรุษ
บุรุษมี ๒ ประเภท คือ ปุถุชนและนักบวช
นักบวชมี ๒ ประเภท คือเสขะและอเสขะ
อเสขะ มี ๒ ประเภท คือ สุกขวิปัสสกะ (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน แล้วจึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่นอีก) และสมถยานิก (ผู้เจริญสมถกรรมฐานจนได้ฌานก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อ)
สมถยานิกมี ๒ ประเภท คือ ที่บรรลุสาวกบารมีและไม่บรรลุสาวกบารมี
กล่าวกันว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศกว่าผู้ที่บรรลุสาวกบารมี (พระสาวก) เพราะเหตุไรจึงเลิศกว่า? เพราะมีคุณมาก พระสาวกหลายร้อยรูป แม้เช่นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นต้น ก็ไม่ถึงแม้ส่วนแห่งร้อยคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียว แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศแม้กว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะเหตุไร? เพราะมีคุณมากถ้าว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งขัดสมาธิเบียดกันทั่วทั้ง ชมพูทวีปก็ไม่เท่าส่วนเสี้ยวแห่งคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว

           ปรมัตถโชติกา๑๓ ซึ่งบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้เป็นอันมาก บรรยายถึงความแตกต่างทางด้านความรู้ระหว่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกไว้ดังนี้:-

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสรู้ได้เองและทรงสอนให้บุคคลอื่นรู้ตามได้อีกด้วย (จนกระทั่งถึงบรรลุมรรคผลนิพพาน)
พระ ปัจเจกพุทธเจ้า ตรัสรู้ได้เอง แต่ไม่อาจสอนให้บุคคลอื่นรู้ตามได้ แทงตลอดอรรถรสเท่านั้น ไม่สามารถแทงตลอดธรรมรสได้ เพราะว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่อาจเพื่อจะยกโลกุตตรธรรมเป็นบัญญัติขึ้นแสดงได้ การบรรลุธรรมจึงมีแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนความฝันที่คนใบ้ฝัน เหมือนรสกับข้าวที่พรานป่าได้ลิ้มในเมืองฉะนั้น

            พระปัจเจกพุทธเจ้า บรรลุธรรมทั้งหมดรวมถึงฤทธิ์ สมาบัติ และปฏิสัมภิทา มีคุณพิเศษต่ำกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เหนือกว่าพระสาวก ให้บุคคลอื่นบวชได้ ให้ศึกษาอภิสมาจาร ด้วยอุเทศนี้ว่า พึงขัดเกลาจิต ไม่พึงท้อถอย หรือทำอุโบสถโดยเพียงพูดว่า วันนี้อุโบสถ และเมื่อทำอุโบสถประชุมกันทำ ณ รัตนมาลา โคนต้นไม้มัญชุสา ในภูเขาคันธมาทน์

            สรุป ได้ว่า เมื่อพิจารณาไม่ว่าด้านคุณธรรม หรือความรู้ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหนือกว่าพระสาวก แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเหนือกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า

วิถีชีวิตของพระปัจเจกพุทธเจ้า:การดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว

             คุณลักษณะ พิเศษที่สำคัญประการหนึ่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าคือ การดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือการดำเนินชีวิตอยู่เพียงลำพัง (เอกะ) ในวรรณคดีพระพุทธศาสนาเปรียบเทียบการดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวของพระ ปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนกับนอแรด (ขคฺควิสาณกปฺโป) ๑๔ ซึ่งแรดของอินเดียมีเพียงนอเดียว ส่วนแรดในประเทศอื่นมี ๒ นอก็มี แต่กระนั้นก็ตาม พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ต้องมาประชุมพร้อมกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน คือในวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ใหม่อุบัติขึ้นและในวันอุโบสถ
คง เห็นแล้วว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น มิได้หลีกเร้นหนีสังคมแต่ประการใด เมื่อมีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกัน ท่านก็มาประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน ปุถุชนธรรมดาไม่อาจที่จะเข้าใจวิถีชีวิตดังกล่าวของพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ อย่างลึกซึ้งเพียงพอ
ถือได้ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ชื่อว่าผู้เดียวหรือผู้ดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยเหตุ ๙ ประการ คือ:-

๑. ชื่อว่าผู้เดียว เพราะการบรรพชา หมายถึงว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ตัดกังวลในฆราวาส, บุตร, ภรรยา, ญาติและการสะสมสมบัติ ปลงผมและหนวดแล้ว ครองผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิต เข้าถึงความเป็นผู้ไม่กังวล เป็นผู้เดียวเที่ยวไป
๒. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะไม่มีเพื่อน (เมื่อถึงฐานะเช่นนั้นแล้วไม่ต้องการเพื่อน) หมายถึงว่าพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้เดียวอาศัยที่อยู่คือป่าและป่าชัฏอันสงัด มีเสียงน้อยปราศจากเสียงกึกก้อง ปราศจากลม อยู่โดดเดี่ยวไกลจากพวกมนุษย์สมควรแก่การหลีกเร้น เดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียวเที่ยวไป
๓ เป็นผู้เดียวเพราะละตัณหา หมายถึงว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ประมาทมีความเพียร ส่งจิตไปอยู่ กำจัดมารและเสนามาร ละตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ
๔. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะปราศจากราคะแน่นอน
๕. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะปราศจากโทสะแน่นอน
๖. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะปราศจากโมหะแน่นอน
๗. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะหมดกิเลสแน่นอน
๘. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะดำเนินสู่ทางเป็นที่ดำเนินไปผู้เดียว (เอกายนมรรค) เอกายนมรรคนั้น หมายถึง สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ (คือโพธิปักขิยธรรม)
๙. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะตรัสรู้ปัจเจกโพธิญาณอันยอดเยี่ยมผู้เดียว หมายถึงว่า รู้แจ้งไตรลักษณ์, ปฏิจจสมุปบาท, อริยสัจสี่นั่นเอง

บทสรุป

บางคนอาจมีความกังขาว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงหรือไม่? ขอเฉลยว่าพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง และมิใช่มีเพียงองค์เดียวเท่านั้นในช่วงเวลาหนึ่ง แต่มีเป็นจำนวนมาก ไม่เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีองค์เดียวเท่านั้น ในช่วงเวลาหนึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่างรายชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้าในอดีต เฉพาะองค์สำคัญที่พบในพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามาเสนอไว้ เช่น พระตครสิขี พระอุปริฏฐะ พระมหาปทุม พระมาตังคะ เป็นต้นนอกจากนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตก็ยังมีปรากฏให้เห็น อาทิเช่น พระอัฏฐิสสระ ซึ่งก็คือพระเทวทัต ก่อนจะมรณภาพโดยถูกแผ่นดินสูบ ขอถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือพระโคตมะ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ด้วยกระดูกพร้อมด้วยลมหายใจ ด้วยอานิสงส์ดังกล่าว จึงทำให้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตได้
อนึ่ง การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จำเป็นต้องบำเพ็ญบารมีเป็นเวลานานมาก อาจทำให้คนที่ปรารถนาตำแหน่งดังกล่าว เกิดความท้อถอย คลายความเพียรได้ แต่ถ้าจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมี โดยใช้เวลาเพียงครึ่งหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น


ขอบพระคุณข้อมูลจาก : http://board.palungjit.com/f13/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2-232222.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 25, 2010, 02:04:14 PM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: