ถ้าเราได้ฝึกปฏิบัติ จิตใจจะเกิดความสันโดษมักน้อย พอใจอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง และจะเลิกเสพติดรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อย่างหลงใหล จะเข้ามาอยู่ในความสงบ ซึ่งจะทำให้เราเห็นว่า สิ่งที่เราเคยมองว่าเป็นความสุขอันสูงสุดในชีวิต แท้ที่จริง แล้ว มันเป็นความสุขที่หยาบ เป็นความสุขที่ร้อน เมื่อเรามีความสุขภายใน อิ่มแล้ว เราก็ไม่ยอมฝากความหวังในความสุขไว้กับสิ่งที่ทรยศทั้งหลาย คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เราจะแสวงหา เสพเสวยสิ่งเหล่านั้น อย่างเป็นอิสระ อย่างเป็นตัวของตนเอง กลายเป็นงานอดิเรก ไม่ใช่งานหลักของชีวิต ความเป็นอิสระนั้น ไม่ใช่อิสระในการบริโภค เช่นอยากจะซื้อของญี่ปุ่นก็ซื้อได้ อยากจะซื้อของยุโรปก็ซื้อได้ อยากจะซื้อของไทยก็ซื้อได้ อย่างนั้นไม่ใช่ความเป็นอิสระที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหวัง ความเป็นอิสระในความหมายของพุทธศาสนาคือซื้อก็ได้ ไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร สามารถทำสิ่งที่ถูกต้องทั้ง ๆที่บางครั้ง บางคราวไม่ถูกใจ บูชาและเทิดทูนความถูกต้องและมีความรู้สึกอันละเอียดอ่อนต่อความเหมาะสมอยู่ เป็นที่พึ่งทางใจ นี่แหละผลที่เกิดจากการฝึกสติ จากการเจริญสมาธิภาวนา
หากจิตใจของเราไม่เคยได้ชิมรสของสมาธิ ก็ยากที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า “กิเลส” ฟังท่านอธิบายว่ากิเลสคือความเศร้าหมอง ก็สักแต่ว่าฟัง แต่เราไม่เห็น เราไม่เป็น แต่เมื่อเราเห็นกิเลสตามความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองแท้ ๆ ความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป ความเบื่อหน่าย ในความยึดมั่นถือมั่น ในการหมายมั่นปั้นมือ จะเริ่มเกิดขึ้นเอง ที่จริง แล้ว แนวทางปฏิบัติก็ตรงไปตรงมา แต่พวกเราก็ยังคดยังเคี้ยวอยู่ ยังไม่ยอม การปฏิบัติคือการยอม ต้องยอม ต้องยอมรับความจริง ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็เพราะเราไม่ยอมรับความจริง ถ้าหากเรายอมแล้ว มันจะสงบทันที การปฏิบัติไม่ใช่เป็นสิ่งที่สลับซับซ้อน ไม่ต้องสะสมข้อมูลมาก เอาแต่เพียงหลักการง่าย ๆ แล้วก็ทำตาม นี่ก็พอแล้ว ยุคนี้ที่เขาเรียกกันว่า ยุคข่าวสารข้อมูล คนในยุคนี้เกิดมีปัญหาในการปฏิบัติ มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นเพราะขาดข้อมูลบางอย่าง คือสงสัยว่า น่าจะมีเคล็ดลับอะไรสักอย่าง หรือคำสอนพิเศษสักอย่างหนึ่งที่เรายังไม่ได้อ่าน ยังไม่ได้ฟัง ที่อาจารย์ยังไม่ได้ บอก ซึ่งถ้าเราได้รู้จักคำสอนข้อนั้นแล้ว ปัญหาของเราก็คงจะดับไป คือมองสมุทัย มองเหตุให้เกิดทุกข์ว่า คืออยู่ที่การขาดข้อมูล ในบางกรณี เป็นไปได้เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปเป็นความคิดผิด ข้อมูลนั้น เพียงพอแล้ว ไม่ต้องมากเท่าไรหรอก ปัญหาคือ ที่มีแล้วเรายังไม่ได้ย่อย ยังไม่ได้ทำให้เป็นของเราอย่างแท้จริง บางทีอาจเป็นเพราะว่าคำสอนยังขังอยู่ในสมอง เส้นทางจากสมองไปสู่หัวใจมันยังอุดตันอยู่ การปล่อยวางความสงสัยและลงมือภาวนาจึงเหมือนการชำระเส้นทางระหว่างสมองกับ หัวใจให้เปิดถึงกัน เสร็จแล้วสิ่งที่เราเคยเรียนมา “เข้าใจ” จริง ซึ่งเป็นการนำเอาสิ่งที่เป็นภาษา ไปสู่แดนที่เหนือภาษา คือบางสิ่งบางอย่างคิดเท่าไรก็มองไม่เห็น รู้เรื่องแต่ยังไม่รู้ถึงเนื้อแท้ของมัน ยังไม่ทะลุปรุโปร่ง เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ยังเป็นทุกข์อยู่ ฉะนั้น ต้องฝึกให้ถึงขึ้นที่ปล่อยวางความยึดติดได้
นิวรณ์ทั้งหลายเหมือนน้ำมูก คือเป็นอาการของโรค เป็นของสกปรก ไม่มีประโยชน์ ใครเคยเสียดายน้ำมุกไหม สั่งมันออกไปแล้วใครเคยคิดที่จะเก็บน้ำมูกอีกครั้งหนึ่งบ้างไหม น่าเกลียดใช่ไหม แต่ทำไมกิเลสซึ่งน่าเกลียดกว่าน้ำมูกตั้งเยอะ เราหวงแหนเหลือเกิน ไม่ยอมไล่ออกไปสักที ครูบาอาจารย์ เห็นความไม่เอาไหนของเรา ท่านจึงสอนให้เรากล้าตายก่อนตาย ต้องตายจากอดีต ตายจากอนาคต ตายจากความคิดเหลวไหล
คนที่ศึกษาทางโลกมาก มักเอาความคิดหรือความเห็นเป็นที่พึ่ง น่าสังเกตว่า หลาย คนที่เรียนหนังสือเก่ง การแต่งตัวก็ไม่ค่อยสนใจ เรื่องอาหารการกินก็ไม่ค่อยสนใจ แต่เวลาไปไหนจะต้องมีหนังสือติดไปด้วย ขาดไม่ได้ เอาหนังสือเป็นที่พึ่ง เอาการอ่านหนังสือเป็นที่พึ่ง เอาจินตนาการเป็นที่พึ่ง ถึงจะอยู่คนเดียวก็ไม่ได้อยู่กับตนเอง จะให้อยู่กับตนเองอย่างแท้จริง หรือให้เผชิญอยู่กับโลกที่เป็นจริงก็ยังไม่กล้า ยังไม่ยอมตายก่อนตาย
นักปฏิบัติต้องกล้าตาย ตายจากกิเลส ตายจากสัญญาเก่า ตายจากความรู้เก่า จึงจะได้ เกิดเป็นคนใหม่ ต้องเกิดใหม่ แล้วเราจะกล้าไหม มันก็น่ากลัว แต่ถ้าไม่กล้าจะไม่เจอของใหม่ ชีวิตจะไม่มีวันสดชื่น แต่ถ้ากล้าอยู่ในโลกที่เป็นจริง จิตจะแช่มชื่น เบิกบาน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ภาวะจิตของผู้ที่ตายจากของเก่าแล้ว ตายจากสิ่งไร้แก่นสารสาระแล้ว คือความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน และเป็นสิทธิ์ของมนุษย์ทุกคนที่จะเข้าถึงภาวะนี้ ขออย่านอนหลับทับสิทธิ์นี้ไว้ ขอให้ตั้งใจเข้าถึงให้ได้ ขอให้ฉวยโอกาสที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ที่ได้เกิดเป็นชาวพุทธ และได้เกิดเป็นคนไทย สมมุติว่าเราเกิดเป็นชาวอิรัก อิหร่าน โอกาสที่จะได้มานั่งฟังเทศน์ฟังธรรม หรือนั่งสมาธิ คงไม่มีเลย แต่เรามีบุญที่ได้เกิดในประเทศนี้
คำสอนทางพระพุทธศาสนา เปรียบเหมือนยารักษาโรค ท่านค้นคว้าหายาแล้ววางไว้ต่อหน้าเราด้วยพระมหากรุณาธิคุณ แต่ท่านบังคับให้เราทานยานั้นไม่ได้ นั่นเป็นหน้าที่ของเราต่างหาก เสียดายว่าพวกเราชอบประมาทแทนที่จะทานยา กลับอ้างว่ายังไม่ป่วย เอาไว้ให้แก่ก่อนจึงค่อยทาน หรือมัวแต่อ่านฉลาก และท่องจำสรรพคุณของยาและส่วนประกอบ บางคนเอาขวดยาไปแขวนคอก็ยังมี ที่จริงแล้ว ยาเป็นสิ่งที่ต้องทาน เพื่อรักษาโรค เรามีโรคคือกิเลสทุกคน ยาก็มีเรียบร้อยแล้ว ทำไมเราไม่ยอมทาน ให้เตือนสติตนเองอย่างนี้เสมอ
ขอให้พวกเราอดทนให้มาก ความอดทนนี่แหละเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง มาเข้ากรรมฐานอยู่ที่นี่แล้วได้แต่ความอดทนอย่างเดียวก็ไม่ขาดทุน ได้กำไรมหาศาล แต่คงจะได้มากกว่านั่นอยู่หรอก อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เห็นตนเองมากขึ้น รู้จักธรรมชาติของตัวเราได้มากขึ้น เมื่อเรารู้จักธรรมชาติของตนเอง เราก็ย่อมรู้จักธรรมชาติของคนอื่นไปด้วย เพราะจิตใจของคนเราคล้ายกันหมด ความเข้าใจธรรมชาติคือปัญญา
ปัญญาที่รู้ความจริงย่อมทำให้เกิดความกรุณาเป็น ธรรมดา ปัญญาและความกรุณาแยกออกจากกันไม่ได้ เมื่อเราเห็นความทุกข์ว่าเกิดขึ้นจากกิเลสและทรมานจิตใจอย่างไร เราก็สงสารตนเอง อยากพ้นจากความทุกข์ เมื่อเห็นคนอื่นเป็นทุกข์ เพราะกิเลส เหมือนกับเรา ก็ไม่โกรธเขา เห็นใจ สงสาร อยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์เหมือนกัน ท่านจึงอุปมาว่า ปัญญาและความสงสารเป็นเหมือนปีกสองปีกของนกอินทรีย์ ฉะนั้น ชีวิตของผู้มีปัญญาย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ และความสุขของมวลมนุษย์โดยแท้
สุดท้ายนี้ ขอเตือนญาติโยมว่า เมื่อเรามีศรัทธาหันมาสนใจทางนี้แล้ว อย่าไปหวังว่า คนอื่นจะต้องอนุโมทนาหรือสนับสนุน เดี๋ยวจะเสียใจ น้อยใจ เพราะคนสมัยนี้ไม่ค่อยเข้าใจ เสียสละเวลามาขัดเกลากิเลส หาความสงบด้วยการนั่งสมาธิ หรือเดินจงกรม อย่างอุกฤษฏ์ บางคนยังถือว่าเป็นการเห็นแก่ตัว เอาแต่ตัวรอด ไม่สนใจสังคม อาตมาเคยฟังแล้ว รู้สึกทั้งเศร้า ทั้งขำ อดนึกอยู่ในใจไม่ได้ว่า แหม เมืองไทยเป็นพุทธตั้งพันสองร้อยปีแล้ว แต่แค่นี้คนไม่เข้าใจ ความจริงที่ทุกคนพิสูจน์ได้ก็คือปัญญาเกิดแล้ว เข้าใจในเรื่องกิเลส เรื่องความทุกข์แล้ว ความหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ ความอยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์ จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้น การช่วยตนเองก็คือการช่วยคนอื่น ช่วยคนอื่นก็คือช่วยตนเอง ประโยชน์ตนประโยชน์ท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและแยกออกจากกันไม่ได้ ประโยชน์อันแท้จริงของเราและประโยชน์อันแท้จริงของคนรอบข้างและสังคม ประสานกลมกลืนกันหมด ถ้าไม่ปฏิบัติธรรม อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ เรามองไม่เห็นชัด เพราะไม่รู้เท่าทันกิเลส ที่แทรกซึมเข้ามาในจิตใจ การปฏิบัติก็เพื่อความดับทุกข์ ทุกข์อยู่ที่ไหน เราก็พยายามดับตรงนั้น เป็นชาวพุทธคือเป็นผู้ยินดีในการดับทุกข์ แต่เรายอมรับว่า การสำเร็จผลในการช่วยเหลือคนอื่นอย่างแท้จริงขึ้นอยู่กับการพัฒนาตนเองด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา
ขอบพระคุณข้อมูลจาก ลานธรรม ครับผม
http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/007987.htm