"การอยู่ – วัดป่า" จากหนังสือ “ชีวิตพระป่า” โดย ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์
...วัดป่าเป็นคนละอย่างกับวัดบ้าน สำหรับผู้ที่เคยไปเป็นครั้งแรก ความรู้สึกที่กระทบจิตใจ
เมื่อย่างเข้าเขตวัดป่าคือความร่มรื่น ซึ่งเกิดขึ้นจากต้นไม้น้อยใหญ่ที่เป็นส่วนป่าในวัด
มีวัดป่าน้อยแห่งที่ไม่มีป่าในวัด วัดเช่นนี้มองจากสายตาของนักธุดงค์กัมมัฏฐานคงไม่เป็นที่น่าพอใจนัก
สิ่งกระทบใจประการที่สองคือความสะอาดและมีระเบียบ ถนนและทางเดินเตียนโล่ง
ไม่มีกิ่งไม้ใบไม้ร่วงหล่นเกลื่อนกลาด ดังที่น่าจะเป็นเพราะมีต้นไม้อยู่โดยรอบ
แม้กระทั่งส้วมซึ่งวัดที่ยากจนยังใช้แบบของชาวบ้าน ก็ยังรักษาความสะอาดได้ดี
ในวัดที่ฐานะดี มีส้วมราดน้ำแบบทันสมัย ส้วมของบ้านในกรุงบางบ้านอาจจะสะอาดน้อยกว่าส้วมของวัดป่าเสียด้วยซ้ำ
ความรู้สึกประการที่สามที่บังเกิดแก่ผู้ไปเยี่ยมคือความเงียบ บางเวลาเงียบจนกระทั่งใบไม้ตกก็ได้ยินเสียงดัง “ปึ้ก”
เสียงพูดคุยกันดัง ๆ เหมือนตามบ้านไม่มีโอกาสจะได้ยินเลย เวลาที่พระป่าจะพูดคุยกันก็มีเวลาเตรียมฉันจังหัน
เวลานัดดื่มน้ำในตอนบ่าย และเวลาพร้อมกันปัดกวาดถนนหนทางและลานวัด ถ้าเห็นพระสองหรือสามองค์สนทนากันอยู่
ก็ฟังแต่ไกลไม่รู้เรื่องว่าท่านพูดอะไรกัน เพราะท่านพูดค่อยมาก
พระตะโกนเรียกกันหรือคุยกันสนุกสนานเฮฮา เป็นเรื่องที่ไม่ได้พบเลย
เมื่อประมาณเจ็ดแปดปีมาแล้วมีสตรีชาวต่างประเทศผู้หนึ่งเกิดสนใจอยากดูชีวิตของพระบ้าง
ได้ขออนุญาตเป็นทางการเข้าไปพักอยู่ในวัดแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากในความเคร่งวินัย
สตรีผู้นั้นไปอยู่ได้เจ็ดวันก็กลับและไปรายงานต่อพระเถระผู้ใหญ่และเจ้านายบางองค์ว่าวัดที่ไปดูมานั้นใช้ไม่ได้เลย.
สมภารปกครองไม่ดี ลูกวัดแตกความสามัคคีกันหมด แม้แต่เวลาฉันจังหันก็ไม่มีใครพูดจาอะไรกัน ดังนั้นความดีก็กลายเป็นไม่ดีไป.
ยกเว้นลักษณะเป็นป่า มีต้นไม้ร่มครึ้มซึ่งคล้าย ๆ กันทุกวัด วัดป่าแต่ละวัดก็มีภูมิประเทศและบริเวณแวดล้อมแปลก ๆ กันไป
บางแห่งมีป่าล้อมรอบ มีที่ว่างเฉพาะบริเวณกุฏิ บางแห่งมีพื้นที่คล้ายสวน เป็นที่ราบ มีแต่ต้นไม้ขนาดกลางขึ้นอยู่ทั่วไป
บางวัดอยู่ที่เชิงเขา บางวัดอยู่บนไหล่เขา บางวัดขึ้นไปถึงยอดเขา แต่ละวัดก็มีข้อเสียข้อดีประจำ เช่น วัดอยู่ในที่ราบ
ไปมาสะดวก แต่อากาศมักร้อนอบอ้าวและทึบ วัดอยู่บนเขา จะไปไหนแต่ละทีต้องเหนื่อยหอบ
แต่มักจะอากาศดี ปลอดโปร่งเย็นสบาย ชวนให้ปฏิบัติได้มาก
การที่พระภิกษุรูปใดจะเลือกอยู่วัดไหน เหตุผลสำคัญที่สุด คือ
1.พระอาจารย์ของวัดนั้นจะต้องมีธรรมะสูง และมีอุปนิสัยถูกกัน เชื่อว่าจะถ่ายทอดความรู้และแนะนำแก้ไขข้อปัญหาในการปฏิบัติได้
2.รองลงไปได้แก่ทำเลและลักษณะอื่น ๆ ของวัดตลอดจนลมฟ้าอากาศ
3.และอันดับที่สามได้แก่ลักษณะของสหธรรมิก ( พระร่วมศึกษาด้วยกัน ) ซึ่งจะต้องไปด้วยกันได้ แม้วัดจะเป็นที่อยู่ที่ไม่ค่อยสบายนัก
แต่ถ้าอาจารย์ดีและสอนเก่ง ผู้หวังก้าวหน้าก็ยังพอทนได้ ถึงแม้วัดจะสวยงาม อากาศดี มีความสะดวกสบาย
แต่ถ้าอาจารย์ไม่ถูกนิสัยกัน สอนกันไม่ได้ ก็ไม่มีใครยอมอยู่ ทั้งนี้เพราะพระป่านั้นบวชเพื่อความหลุดพ้น
ไม่ใช่เพื่ออยู่ไปวัน ๆ หนึ่ง จึงไม่ใคร่ยอมเสียเวลาถ้าเห็นว่าอยู่ไปก็ไม่ได้ผล
_/\_ _/\_ _/\_