ครั้งหนึ่ง พระคิริมานันทะอาพาธหนัก พระอานนท์ทราบเรื่องนี้แล้วทูลอาราธนาให้พระศาสดาเสด็จไปเยี่ยม เนื่องจากพระพุทธองค์ยังทรงมีภารกิจบางอย่างอยู่ จึงเสด็จไปมิได้ แต่ทรงให้พระอานนท์เรียนสัญญา ๑๐ ประการแล้วไปสาธยายให้พระคิริมานันทะฟัง พระอานนท์ครั้นเรียนสัญญา ๑๐ ประการอย่างแม่นยำแล้ว ก็ไปสู่สำนักของพระคิริมานันทะ สาธยายสัญญา ๑ ประการให้ฟังโดยใจความดังนี้
"รูป คือก้อนทุกข์ก้อนหนึ่ง ซึ่งประกอบขึ้นจากธาตุทั้ง ๔ กล่าวคือ ดิน น้ำ ลม และไฟ เป็นไปโดยจักร ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน อันรวมเรียกว่าอิริยาบถ มีทวาร ๙ คือ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ปาก ๑ ทวารหนัก ๑ ทวารเบา ๑ อันเป็นที่หลั่งไหลออกแห่งตัวปลวก คือสิ่งโสโครกต่างๆ ขี้ตาไหลออกจากตา ขี้หูไหลออกจากช่องหู ฯลฯ ทั่วสารพางค์มีรูเล็กๆ เป็นที่หลั่งไหลออกแห่งสิ่งสกปรกอันหมักหมมอยู่ภายใน พระศาสดาจึงเปรียบรูปกายนี้เหมือนจอมปลวกบ้าง เหมือนหม้อดินบ้าง
เวทนาคือความเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง
สัญญา คือความทรงจำได้หมายรู้ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพารมณ์ คือสิ่งซึ่งถูกต้องได้ด้วยกาย
สังขาร คือสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้บ้างกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นกลางๆ บ้าง
วิญญาณ คือการรับรู้อารมณ์อันผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย
ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่าขันธ์ ๕ ล้วนมีสภาพเป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ไม่ได้ ไม่เที่ยงเพราะปรวนแปรอยู่เสมอ เป็นอนัตตาเพราะฝืนไม่ได้ ไม่เป็นไปตามปรารถนาว่าจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเถิด ทั้งหมดที่กล่าวมานี้พระผู้มีพระภาครวมเรียกว่าอนิจจสัญญาและอนัตตสัญญา
เพื่อให้สัญญาทั้งสองประการได้การอุปถัมภ์ พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาอสุภสัญญา คือความไม่งามแห่งกายนี้ โดยอาการว่า กายนี้ตั้งแต่ปลายผมลงไป ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมา เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ กล่าวคือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อใย กระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ น้ำมันข้อ น้ำมันเหลว น้ำตา น้ำลาย น้ำไขข้อ น้ำมูตร
อาหารหรือสิ่งดังกล่าวมานี้ ย่อมให้ทุกข์ให้โทษเมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลง เป็นบ่อเกิดแห่งโรคนานาชนิด เช่น โรคตา โรคหู โรคในจมูก โรคลำไส้ โรคไต โรคปอด โรคม้าม โรคตับ โรคเกี่ยวกับอุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ การพิจารณาเห็นโทษแห่งสิ่งเหล่านี้ว่า เป็นรังของโรคนั่นแล เรียกว่า อาทีนวสัญญา
ร่างกายนี้เป็นที่นำมา คือเป็นสื่อแห่งความตรึกในเรื่องกามบ้าง เรื่องพยาบาทบ้าง เรื่องเบียดเบียนบ้าง วิตกทั้ง ๓ นี้ เมื่อจะตั้งลงก็ตั้งลงในกายนี้ การกำหนดใจประหารกามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก เรียกว่าปหานสัญญา
เมื่อประหารได้แล้ว ความกำหนัดพอใจในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดพอใจก็คลายลง พอใจในการที่จะสำรอกราคะเสีย เรียกว่า วิราคสัญญา
การดับกิเลสทั้งมวลให้ประสบความสงบเยือกเย็นได้ เรียกว่า นิโรธ ความพอใจกำหนดใจในนิโรธนั้น เรียกว่า นิโรธสัญญา
ความรู้สึกว่าโลกนี้เป็นที่ตั้งที่เกิดแห่งความวุ่นวายนานาประการ หาความสงบสุขได้โดยยาก ไม่เพียงแต่ในโลกนี้เท่านั้น แม้โลกทั้งปวงก็ตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกัน ร้อนระอุอยู่ด้วยเพลิงภายในคือกิเลส แล้วไม่ปรารถนาโลกไหนๆ เรียกว่า สัพพโลเก อนภิรติสัญญา
การกำหนดใจไม่ปรารถนาสังขารทั้งปวง ไม่ว่ามีใจครองหรือไม่มีใจครอง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางซึ่งสิ่งที่เคยยึดถือไว้ ย่อมประสบความเบากาย เบาใจ เหมือนคนปลงภาระหนักลงเสีย การกำหนดใจดังนี้เรียกว่า สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา
การกำหนดลมหายใจเข้าออก มีสติตั้งไว้ที่ลมหายใจ เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ว่ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ว่าสั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทากามราคะ และความหลงใหล เรียกว่า "อานาปานสติ"
พระคิริมานันทะส่งกระแสจิตไปตามธรรมบรรยายของพระอานนท์ รู้สึกซาบซึ้งซึมทราบ ปีติปราโมชเกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาแห่งธัมโมชปัญญา สามารถข่มอาพาธหนักเสียได้ ท่านหายจากอาพาธนั้นด้วยฟังสัญญา ๑๐ ประการจากพระพุทธอนุชา
นอกจากบรรพชิตแล้ว ยังมีคฤหัสถ์อีกมากมายซึ่งพระอานนท์ได้ช่วยเหลือในยามเจ็บป่วย เป็นต้นว่า ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี และคฤหบดีนามว่า สิริวัฑฒะ ชาวเมืองราชคฤห์ และคฤหบดีนามว่า มานทินนะ ชาวเมืองราชคฤห์เช่นเดียวกัน
แน่นอนทีเดียว การอุปการะช่วยเหลือผู้อื่นคราวอาพาธนั้น ย่อมเป็นสิ่งประทับใจอยู่ตลอดกาล ทั้งแก่ผู้รับและแก่ผู้ให้ โรคเป็นศัตรูของชีวิต การช่วยกำจัดโรคเท่ากับช่วยกำจัดศัตรูของชีวิต ทำนองเดียวกับกิเลสเป็นศัตรูของจิตใจ การช่วยกำจัดกิเลสจึงเท่ากับช่วยกำจัดศัตรูของจิต พระบรมศาสดาและพระพุทธอนุชาอานนท์นั้น เป็นกัลยาณมิตรแห่งมวลชน เป็นที่พึ่งได้ทั้งกายและทางจิต จะหากัลยาณมิตรใดเล่าเสมอเหมือน หรือยิ่งกว่าท่านผู้ทรงคุณอันประเสริฐนี้.