ปี 2546 ผมได้มีโอกาศสำรวจข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรม ตำบลห้วยสำราญ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ และได้พบกับปู่อินทร์ หงส์โสภา ผู้เฒ่าผู้แกของหมู่บ้านที่มีความรู้เรื่องอักษรขอม มีความสามารถมากมาย และมีตำราที่ปู่อินทร์เขียนไว้ ทั้งตำรายา ตำราเลขยันต์ และอื่นๆ ซึ่งเขียนด้วยอักษรขอม และอักษรไทยปัจจุบัน
ภาษาขอม คือภาษาโบราณที่ใช้สื่อสารกันในดินแดนสุวรรณภูมิ ปัจจุบันเหลือหลักฐานให้เห็นเพียงภาษาเขียน เรียกกันว่า อักษรขอม แบ่งออก 3 ประเภท
1. อักษรขอมบาลี
2. อักษรขอมเขมร
3. อักษรขอมไทย
การศึกษาบาลีในประเทศไทยในสมัยโบราณ กุลบุตรเริ่มต้นด้วยการเรียนอักษรขอมก่อน เพราะภาษาบาลีที่จารใบลานใช้อักษรขอม ผู้เรียนต้องเรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์ท่องสูตรมูล ซึ่งมีทั้งภาคมคธและพากย์ไทยล้วนใช้อักษรขอม
อักษรขอมในพระพุทธศาสนาปรากฏจารึกมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ถือว่าเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ ควรแก่การรับรองพระพุทธวจนะ จึงได้รับความนิยมในการใช้เขียนเทศน์ วรรณคดีไทย เช่น มหาชาติคำหลวง , มหาชาติ 13 กัณฑ์ , ปฐมสมโพธิกถา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี ตำราไสยศาสตร์ เลขยันตร์ และคาถาอาคมเวทย์มนต์ ต่าง ๆ ตลอดจน ตำรามหาพิสัยสงคราม ก็ล้วนแต่ใช้อักษรขอม ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวคิดที่ว่าเดิมไทยใช้อักษร 2 แบบ คืออักษรไทยที่ชาวบ้านใช้ และอักษรธรรมที่ใช้ในวัด คือ อักษรขอม
เนื้อหาบางส่วนนี้ท่านสามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้ จากพิพิธภัณฑ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม