พูดถึงเรื่องระดับปรมัตธรรม 4 อย่างคือ รูป จิต เจตสิก นิพพาน
จิต+เจตสิก = จิตปรุงแต่ง
เจตสิก เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในจิตใจของคนเรา ที่ช่วยตัดสินใจ หรือปรุงแต่งจิตใจ ในการทำบุญและทำบาป ซึ่งธรรมชาตินี้ เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกันกับจิต อาศัยวัตถุ เดียวกันกับจิต เหมือนกระ...แสไฟและแสงสว่าง ที่ต้องอาศัยหลอดไฟเกิดขึ้น จิต กับ เจตสิก เป็นนามธรรมเหมือนกัน จึงเข้าประกอบกันได้สนิท เหมือนน้ำกับน้ำตาล หรือ น้ำกับสีพลาสติก โดยจิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ และเจตสิกเป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิต ให้รู้อารมณ์เป็นไปต่าง ๆ ตามลักษณะของเจตสิก เช่นจิตเห็นพระธุดงค์กำลังเดินบิณฑบาต เจตสิกก็ปรุงแต่งจิตให้อยากทำบุญใส่บาตร กับพระธุดงค์องค์นั้นเป็นต้น ในการนี้จึงนับว่าจิต (เห็น) เป็นใหญ่เป็นประธาน เจตสิกที่คิดจะทำบุญใส่บาตร จึงได้อิงอาศัยจิตเกิดขึ้น
เจตสิก 52 ประเภท แบ่งเป็น 3 จำพวกใหญ่ คือ
1. อัญญสมานาเจตสิก 13 ชนิด เป็นเจตสิกกลางเป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล
2. อกุศลเจตสิก 14 ชนิด เป็นเจตสิกที่เข้ากับฝ่ายอกุศลอย่างเดียว
3. โสภณเจตสิก 25 ชนิด เป็นเจตสิกที่เข้ากับฝ่ายกุศลอย่างเดียว
การเกิดขึ้นของจิต (วิญญาณขันธ์) จะเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิก (เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์) นั้นไม่ได้ ลำพังจิตอย่างเดียว ไม่สามารถรับรู้หรือนึกคิดอะไรได้เลย จิตเปรียบเสมือนนาฬิกา เจตสิกเปรียบเสมือน ชิ้นส่วนและเฟืองจักรต่าง ๆ ที่ทำให้นาฬิกาทำงานได้ จิตและเจตสิก จะแยกจากกันไม่ได้ ต้องเกิดร่วมกันอิงอาศัยกัน จิตแต่ละดวงที่เกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกประกอบปรุงแต่งด้วยเสมอ
สรุปแล้ว ขันธ์ ๕ (เบญจขันธ์ 1.รูป2.เวทนา 3.สัญญา 4.สังขาร 5.วิญญาณ) ก็คือ รูป จิตและเจตสิก หรือ รูปกับนาม นั่นเอง
เป็นที่น่าแปลก ในหมวดอภิธรรม ที่เขียนเรื่อง รูป จิต เจตสิก นิพพาน เป็นแนวปรัชญา ได้เป็นที่สนใจศึกษากันมากมาย ทั้งที่จริงในหมวดอภิธรรมนี้ เป็นเรื่องที่มาแต่งกันหนหลัง ในสมัยพุทธกาลมีกล่าวไว้ในบางพระสูตรไม่มาก จะมีแต่เรื่อง พระวินัย กับพระสูตรเป็นหลัก ที่ท่องจำกันมา และที่สำคัญ ในหมวดอภิธรรมนี้ เป็นเพียงการศึกษาเพื่อแสดงความรู้ในเชิงปรัชญาเท่านั้นครับ