ท่านพระอาจารย์เสาร์เดิมปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า ท่านพระอาจารย์เสาร์ เดิมท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
เวลาออกบำเพ็ญพอเร่งความเพียรเข้ามากๆ ใจรู้สึกประหวัดๆ ถึงความปรารถนาเดิม
เพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แสดงออกเป็นเชิงอาลัยเสียดายยังไม่อยากไปนิพพาน
ท่านเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้
ท่านเลยอธิษฐานของดจากความปรารถนานั้น และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินี้
ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่าง ๆ อีกต่อไป
พอท่านปล่อยวางความปรารถนาเดิมแล้ว การบำเพ็ญเพียรรู้สึกสะดวกแลเห็นผลไปโดยลำดับ
ไม่มีอารมณ์เครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายท่านก็บรรลุถึงแดนแห่งความเกษมดังใจหมาย
แต่การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ท่านไม่ค่อยมีความรู้แตกฉานกว้างขวางนัก
ทั้งนี้อาจจะเป็นไปตามภูมินิสัยเดิมของท่านที่มุ่งเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
ซึ่งตรัสรู้เองชอบ แต่ไม่สนใจสั่งสอนใครก็ได้ อีกประการหนึ่ง
ที่ท่านกลับความปรารถนาได้สำเร็จตามใจนั้น คงอยู่ในขั้นพอแก้ไขได้ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิแท้
แม้ท่านพระอาจารย์มั่นเอง ตามท่านเล่า ว่าท่านก็เคยปรารถนาพุทธภูมิมาแล้วเช่นเดียวกัน
ท่านเพิ่งมากลับความปรารถนาเมื่อออกบำเพ็ญธุดงคกรรมฐานนี่เอง
โดยเห็นว่าเนิ่นนานเกินไปกว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาตามความปรารถนา
จำต้องท่องเที่ยวเกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ในวัฏสงสารหลายกัปหลายกัลป์ ไม่ชนะ จะแบกขนทนความทุกข์ทรมานไม่มีวันจบสิ้นนี้ได้
เวลาเร่งความเพียรมาก ๆ จิตท่านมีประหวัด ประหวัดในความหลัง
แสดงเป็นความอาลัยเสียดายความเป็นพระพุทธเจ้า
ยังไม่อยากนิพพานในชาตินี้เหมือนท่านพระอาจารย์เสาร์
พออธิษฐานของดจากความปรารถนาเดิมเท่านั้น รู้สึกเบาใจหายห่วง
และบำเพ็ญธรรมได้รับความสะดวกไปโดยลำดับ ไม่ขัดข้องเหมือนแต่ก่อน
และปรากฏว่า ท่านผ่านความปรารถนาเดิมไปได้อย่างราบรื่นชื่นใจ
เข้าใจว่าภูมิแห่งความปรารถนาเดิมคงยังไม่แก่กล้าพอ จึงมีทางแยกตัวผ่านไปได้
เวลาท่านออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานทางภาคอีสานตามจังหวัดต่าง ๆ ในระยะต้นวัย
ท่านมักจะไปกับท่านพระอาจารย์เสาร์เสมอ แม้ความรู้ทางภายในจะมีแตกต่างกันบ้างตามนิสัย
แต่ก็ชอบไปด้วยกัน สำหรับท่านพระอาจารย์เสาร์ท่านเป็นคนไม่ชอบพูด ไม่ชอบเทศน์
ไม่ชอบมีความรู้แปลก ๆ ต่าง ๆ กวนใจเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น
เวลาจำเป็นต้องเทศน์ท่านก็เทศน์เพียงประโยคหนึ่งหรือสองเท่านั้น
แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปเสีย ประโยคธรรมที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า
“ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าที่ได้มีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์”และ
“เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ
มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ”แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิ โดยไม่สนใจกับใครต่อไปอีก
ปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด พูดน้อยที่สุด ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน ๒-๓ ประโยค
เวลานั่งก็ทนทาน นั่งอยู่ได้เป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง เดินก็ทำนองเดียวกัน แ
ต่ลักษณะท่าทางของท่านมีความสง่าผ่าเผย น่าเคารพเลื่อมใสมาก
มองเห็นท่านแล้วเย็นตาเย็นใจไปหลายวัน ประชาชนและพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก
ท่านมีลูกศิษย์มากมายเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น
ทราบว่า ท่านพระอาจารย์ทั้งสององค์นี้รักและเคารพกันมาก ในระยะวัยต้นไปที่ไหนท่านชอบไปด้วยกัน
อยู่ด้วยกัน ทั้งในและนอกพรรษา พอมาถึงวัยกลางผ่านไป เวลาพักจำพรรษามักแยกกันอยู่
แต่ไม่ห่างไกลกันนัก พอไปมาหาสู่กันได้สะดวก มีน้อยครั้งที่จำพรรษาร่วมกัน
ทั้งนี้อาจเกี่ยวกับบรรดาศิษย์ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีมากด้วยกัน และต่างก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที
ถ้าจำพรรษาร่วมกันจะเป็นความลำบากในการจัดที่พักอาศัย จำต้องแยกกันอยู่เพื่อเบาภาระในการจัดที่พักอาศัยไปบ้าง
ทั้งสองพระอาจารย์ขณะที่แยกกันอยู่จำพรรษาหรือนอกพรรษา รู้สึกคิดถึงกันมากและเป็นห่วงกันมาก
เวลามีพระที่เป็นลูกศิษย์ของแต่ละฝ่ายมากราบนมัสการ จะมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์เสาร์หรือมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น
ต่างจะต้องถามถึงความสุขทุกข์ของกันและกันก่อนเรื่องอื่น ๆ จากนั้นก็บอกกับพระที่มากราบว่า
“คิดถึงท่านพระอาจารย์………” และฝากความเคารพคิดถึงไปกับพระลูกศิษย์ที่มากราบเยี่ยมตามสมควรแก่
“อาวุโส ภันเต” ทุก ๆ ครั้งที่พระมากราบพระอาจารย์ทั้งสองแต่ละองค์
ท่านมีความเคารพในคุณธรรมของกันและกันมาก ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรืออยู่ไกล
เวลาพระอาจารย์ทั้งสององค์ใดองค์หนึ่งพูดปรารภถึงกันและกันให้บรรดาลูกศิษย์ฟัง
จะมีแต่คำที่เต็มไปด้วยความเคารพและความยกยอสรรเสริญโดยถ่ายเดียว ไม่เคยมีแม้คำเชิงตำหนิแฝงขึ้นมาบ้างเลย
จาก หนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน