KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาลพระราหุลเถระ
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: พระราหุลเถระ  (อ่าน 23341 ครั้ง)
samarn
Global Moderator
กัลยาณมิตร ลำดับที่ 2
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 7
กระทู้: 215


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:22:33 PM »

   พระราหุล เป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ กับพระนางยโสธรา (พิมพา) เป็นพระนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้วเสด็จมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราม วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปที่พระราชนิเวศน์ของพระนางยโสธราพระราชเทวีเก่าของพระองค์ พระนางได้ส่งพระราหุลกุมาร ผู้เป็นพระโอรสออกมาทูลขอพระราชสมบัติที่ควรจะได้ราหุลกุมารออกไปเฝ้าเจรจาปราศรัยแสดงความรักใคร่มีประการต่าง ๆ ครั้นเห็นพระบรมศาสดาจะเสด็จกลับ จึงร้องทูลขอราชสมบัติพลางตามเสด็จพระบรมศาสดาทรงดำริว่า ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ที่จะมั่นคงถาวร และประเสริฐยิ่งกว่าอริยทรัพย์นั้นไม่มี ควรที่เราจะให้อริยทรัพย์แก่ราหุลเถิด

     เมื่อพระพุทธองค์ทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งพระสารีบุตรว่า สารีบุตร ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้ราหุลบวชเถิด ขณะนั้นราหุลกุมารยังเยาว์อยู่มีอายุยังไม่ครบอุปสมบท พระสารีบุตรจึงทูลถามว่า จะโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชราหุลกุมารอย่างไร พระบรมศาสดาทรงปรารภเรื่องนี้ให้เป็นเหตุ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุบวชกุลบุตรที่มีอายุยังไม่ครบอุปสมบทให้เป็นสามเณร ด้วยการให้สรณคมน์ ๓ นับได้ว่าราหุลเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา เมื่อราหุลกุมารบวชเป็นสามเณรแล้ว ตามเสด็จพระบรมศาสดา และพระอุปัชฌาย์ของตนไป ครั้นมีอายุครบแล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ

     วันหนึ่งในขณะที่พระราหุลพักอยู่ ณ สวนมะม่วงแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์ พระบรมศาสดาเสด็จไป ณ ที่นั้น ทรงแสดงราหุโลวาทสูตรซึ่งว่าด้วยภาชนะน้ำเปล่า บรรยายเปรียบเทียบด้วยคนพูดมุสาวาทเป็นต้น ตรัสสอนให้พระราหุลสำเหนียกตามเทศนานั้นแล้วเสด็จกลับไป ต่อมาอีก วันหนึ่งพระราหุลเข้าไปเฝ้า พระบรมศาสดาตรัสสอนด้วยมหาราหุโลวาท ซึ่งว่าด้วรรูปกรรมฐานธาตุ ๕ อย่างคือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน,อาโปธาตุ ธาตุน้ำ,เตโชธาตุ ธาตุไฟ, วาโยธาตุ ธาตุลม และอากาศธาตุ ช่องว่าง ให้ใช้ ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามสภาพที่เป็นจริงว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ส่วนนั้นไม่เป็นของเรา ส่วนนั้นไม่ใช่ของตัวเราเป็นต้น ในที่สุดก็ตรัสสอนในกรรมฐานอื่น ๆ ให้เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภสัญญา อนิจจสัญญา ครั้นทรงสอนจบแล้วพระราหุลมีจิตยินดีในคำสอนของพระบรมศาสดา ต่อมาพระราหุลได้ฟังพระพุทโธวาทเกี่ยวกับวิปัสสนา คล้ายกับโอวาทที่ตรัสสอนภิกษุปัญจวัคคีย์ เพียงแต่ในที่นี้ยกอายตนะภายในภายนอกเป็นต้นขึ้นแสดงแทนขันธ์ ๕ ท่านส่งจิตไปตามพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์

     พระราหุลนั้น ท่านเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาธรรมวินัย ตามประวัติกล่าวไว้ว่า ครั้นท่านลุกขึ้นแต่เช้าก็ไปกอบทรายให้เต็มฝ่าพระหัตถ์แล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ในเวลานี้ข้าพเจ้าพึงได้รับซึ่งโอวาทคำสอนจากสำนักของพระบรมศาสดา หรือจากสำนักของอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลายให้ได้มากประมาณเท่าเม็ดทรายในกำมือแห่งข้าพเจ้านี้ ด้วยเหตุนี้เอง พระราหุลจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ในการศึกษา ครั้นท่านดำรงชนมายุสังขารโดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน
บันทึกการเข้า
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: มิถุนายน 20, 2013, 06:16:12 PM »



พระราหุลเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ใคร่ในการศึกษา


พระราหุลกุมาร เป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ (พุทธโอรส) กับพระนางยโสธรา หรือ พิมพา เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ ประสูติวันเดียวกันกับที่พระบิดาเสด็จออกบวช ดังนั้น ท่านจึงเจริญพระชันษาเติบโตขึ้นมาโดยมิเคยเห็นพระพักตร์รู้จักพระบิดาเลย จวบจนครั้นเมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ ณ นิโครธารามซึ่งพระประยูรญาติสร้างถวาย ในวันรุ่งขึ้นเวลาเช้า ทรงปฏิบัติพุทธกิจ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนครกบิลพัสดุ์ ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพระบิดาในระหว่างถนนให้พระบิดาดำรงอยู่ใน พระโสดาปัตติผล


ในวันที่ ๒ เสด็จเข้าไปรับบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ ทรงแสดงธรรมโปรดพระบิดาและพระนางมหาปชาบดีโคตมี เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระบิดาดำรงอยู่ในพระสกทาคามี ส่วนพระนางมหาปชาบดีโคตมีดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล


แม้ว่าพระพุทธองค์จะเสด็จเข้าไปรับอาหารบิณฑบาทในพระราชนิเวศน์ถึง ๖ วันแล้วก็ตาม แต่พระนางพิมพาพระมารดาของราหุลกุมาร ก็มิได้มาเฝ้าพระพุทธองค์ดุจบุคคลอื่นๆ เลย


ครั้นล่วงถึงวันที่ ๗ แห่งการเสด็จเยือนพระนครกบิลพัสดุ์ พระนางพิมพาราชเทวี ประดับตกแต่งองค์ราหุลกุมารราชโอรสด้วยอาภรณ์อันวิจิตร แล้วตรัสว่า .-


“พ่อราหุลลูกรัก พ่อจงไปดูพระสมณะผู้มีผิวพรรณผ่องใส มีรูปงามดุจท่านท้าวมหาพรหม แวดล้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเป็นจำนวนมาก พระสมณะองค์นั้นคือพระบิดาของเจ้า พระองค์มีขุมทรัพย์มหาศาลอันสุดจะคณนา นับแต่พระบิดาของเจ้าออกบวช เจ้าก็เหมือนหมดหวังในราชสมบัติ เจ้าจงไปกราบไหว้พระบิดาแล้วกราบทูลขอทรัพย์สมบัตินั้น ในฐานะเป็นทายาทสืบสันตติวงศ์ต่อพระองค์เถิด”


ราหุลกุมาร เสด็จเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามพระดำรัสของพระมารดา กราบถวายบังคมแล้ว ทอดพระเนตรดูพระสัพพัญญู บังเกิดความรักในพระบิดา ทรงปราโมทย์โสมนัสตรัสชมว่า


“ร่มเงาของพระองค์เย็นสดชื่นยิ่งนัก พระพักตร์ของพระองค์สดใสสุดประมาณ” ดังนี้แล้ว ก็ตรัสเรื่องอื่นๆ ต่อไป โดยมิได้กราบทูลขอทรัพย์สมบัติ


พระพุทะองค์ ทรงกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว ตรัสอนุโมทนา เสด็จกลับสู่นิโครธาราม ส่วนราหุลกุมารก็เสด็จติดตามไปจนถึงอาวาส มิมีผู้ใดจะสามารถกราบทูลทัดทานได้ เมื่อสบโอกาสจึงกราบทูลขอทรัพย์สมบัติอันเป็นสิ่งที่รัชทายาทผู้สืบราชสันตติวงศ์จะพึงได้รับ



พระบรมศาสดา ได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงดำริว่า


“ราหุลกุมารปรารถนาทรัพย์สมบัติอันเป็นของพระบิดา ถ้าตถาคตจะให้ขุมทองแก่เธอแล้ว ก็จะเป็นสิ่งชักนำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ด้วยเป็นสิ่งหาสาระแม้สักนิดหนึ่งก็หามีไม่ อย่ากระนั้นเลย เราจะมอบอริยทรัพย์อันเป็นสิ่งประเสริฐสุดในพระพุทธศาสนานี้แก่เธอ ซึ่งจะทำให้เธอเป็นโลกุตรทายาท สืบสกุลในพุทธวงศ์นี้สืบไป”


ครั้นแล้ว ทรงมีพระดำรัสสั่งพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจัดการบรรพชาให้แก่ราหุลกุมารในวันนั้น ด้วยวิธีให้รับไตรสรณคมน์ และสามเณรราหุลได้ชื่อว่าเป็นสามณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา


พระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อทราบว่าราหุลกุมารบรรพชาแล้ว ทรงโทมนัสเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่งด้วยหวังไว้แต่เดิมว่า เมื่อพระราชโอรสสิทธัตถะออกบวชแล้ว ก็หวังจะได้นันทกุมารสืบราชสมบัติต่อ แต่พระบรมศาสดาก็ทรงพานันทะออกบวช ทำให้ผิดหวังเป็นคำรบสอง แต่ก็ยังมีหวังอยู่ว่าจะให้ราหุลกุมารหลานรัก เป็นทายาทสืบราชสมบัติต่อไป แต่แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงนำไปบวชเสียอีก จึงหมดสิ้นผู้จะสืบสายรัชทายาท ทรงดำริต่อไปอีกว่า หากปล่อยไว้อย่างนี้อีกไม่นาน บรรดากุมารในศากยสกุลก็จะถูกนำไปบวชจนหมดสิ้น อนึ่ง ความทุกขโทมนัสอย่างนี้ ก็จะเกิดแก่บิดามารดาในสกุลอื่นๆ ด้วยเหตุสิ้นคนสืบสกุล จึงรีบเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่นิโครธาราม กราบทูลขอประทานพรพุทธานุญาตว่า.-


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นับต่อแต่นี้ไป ถ้ากุมารผู้ใดแม้ประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนา หากมารดาบิดายังมิยอมพร้อมใจกันอนุญาตให้บวชแล้ว ขอได้โปรดงดเสีย อย่าได้ให้บรรพชาแก่กุลบุตรผู้นั้นเลย”


พระบรมศาสดา ได้ประทานพรตามที่พระพุทธบิดากราบทูลขอ แล้วถวายพระพรลา พาพระนันทะและสามเณรราหุล พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์เสด็จกลับสู่มหานครราชคฤห์


เมื่อพระราหุลกุมารบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ตามเสด็จพระบรมศาสดา และพระสารีบุตรเถระอุปัชฌาย์ของตนไปสถานที่ต่างๆ


วันหนึ่ง ขณะที่พระราหุลพักอยู่ที่สวนมะม่วง ในกรุงราชคฤห์ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่น ทรงแสดงพระธรรมเทศนาราหุโลวาทสูตรให้ท่านฟัง หลังจากนั้นทรงสอนในทางวิปัสสนา ทรงยกอายตนะภายในและภายนอกขึ้นแสดง สามเณรราหุลส่งจิตไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล


ในขณะเมื่อท่านเป็นสามเณรเล็กๆ อยู่นั้น ท่านเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย จนเป็นที่เลื่องลือในหมู่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยว่า ครั้งหนึ่ง พุทธบริษัททั้งหลาย ฟังธรรมกันยามค่ำคืน โดยมีพระเถระผลัดเปลี่ยนกันแสดงธรรม เมื่อสิ้นสุดการแสดงธรรมแล้ว พระเถระผู้ใหญ่ต่างก็กลับที่พักของตน ส่วนพระภิกษุผู้บวชใหม่ และสามเณร รวมทั้งอุบาสก ที่ไม่สามารถจะกลับที่พักได้ เพราะค่ำมืด จึงอาศัยนอนกันในโรงธรรมนั้น เนื่องจากเป็นพระบวชใหม่ จึงไม่สำรวมในการนอน ทำให้เกิดภาพที่ไม่น่าดู รุ่งเช้าอุบาสกทั้งหลายพากันติเตียนและความทราบไปถึงพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์จึงรับสั่งประชุมสงฆ์ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท “ห้ามภิกษุนอนร่วมในที่มุงที่บังเดียวกันกับอนุปสัมบัน (อนุปสัมบัน คือผู้มิใช่พระภิกษุ) ถ้านอนร่วมต้องอาบัติปาจิตตีย์”


ครั้นกาลต่อมา สามเณรราหุลไม่สามารถจะนอนร่วมกับพระภิกษุได้ และเมื่อไม่มีที่จะนอน ท่านจึงเข้าไปนอนในเวจกุฎี (ส้วม) ของพระบรมศาสดา เมื่อเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธองค์เสด็จไปเวจกุฎีส่งเสียงกระแอมออกไปแล้วได้สดับเสียงกระแอมตอบจากข้างในและได้พบเธอนอนในที่นั้น และทรงทราบว่า เพราะเธอไม่มีที่นอนอันเนื่องมาจากพุทธบัญญัติ ทำให้พระองค์สลดพระทัย จึงดำริว่า “ต่อไปภายหน้า สามเณรน้อยๆ จะได้รับความลำบาก เพราะขาดผู้ดูแล เอาใจใส่” จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติมว่า .-


“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุนอนรวมกับอนุปสัมบันได้ ๓ คืน ถ้าเกิน ๓ คืน พระภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์”


ในพุทธบัญญัตินี้ หมายถึงให้ภิกษุนอนร่วมกับอนุปสัมบันได้ ๓ คืน ในคืนที่ ๔ ให้เว้นเสีย ๑ คืน แล้วค่อยกลับมานอนรวมกันใหม่ได้โดยเริ่มนับ ๑ ใหม่ จึงถึงคืนที่ ๓ ปฏิบัติโดยทำนองนี้ จนกว่าจะมีสถานที่นอนแยกกันเป็นการถาวร


สามเณรราหุล เมื่ออายุครบ ๒๐ พรรษา ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เป็นผู้มีอัธยาศัยใคร่ต่อการศึกษาพระธรรมวินัย ทุกวันที่ท่านตื่นขึ้นมาเวลาเช้า ท่านจะกำทรายให้เต็มฝ่ามือแล้วตั้งความปรารถนาว่า


“วันนี้ ข้าพเจ้าพึงได้รับคำสั่งสอนจากสำนักพระบรมศาสดา สำนักพระอุปัชฌาย์ และสำนักพระอาจารย์ทั้งหลาย ให้ได้ประมาณเท่าเม็ดทรายในกำมือของข้าพเจ้านี้”


ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดา ให้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ใคร่ในการศึกษา

ท่านพระราหุลเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพานที่บัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ ณ ดาวดึงสเทวโลก

ท่านมีอายุไม่มากนัก เพราะท่านนิพพานก่อนพระพุทธองค์ผู้เป็นพระบิดา ก่อนพระสารีบุตรผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ก่อนพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นพระอาจารย์
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: มิถุนายน 20, 2013, 06:22:05 PM »



องค์พระสมเด็จสัมมาสัมพระพุทธเจ้าทรงแนะธรรมแก่พระราหุล ในขั้นสุดท้าย

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นประทับอยู่ในที่รโหฐาน ได้เกิดพระปริวิตกทางพระหฤทัยขึ้นอย่างนี้ว่าราหุลมีธรรมที่บ่มวิมุตติแก่กล้าแล้วแล ถ้ากระไร เราพึงแนะนำราหุลในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้นเถิด ฯ

ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคทรงครองสบง ทรงบาตรจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถีในเวลาเช้า ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้วได้ตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล เธอจงถือผ้ารองนั่ง เราจักเข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักผ่อนกลางวันกัน ท่านพระราหุลทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แล้วจึงถือผ้ารองนั่งติดตามพระผู้มีพระภาคไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ก็สมัยนั้นแล เทวดาหลายพันตนได้ติดตามพระผู้มีพระภาคไปด้วยทราบว่า วันนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงแนะนำท่าน พระราหุลในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้น

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าถึงป่าอันธวันแล้ว จึงประทับนั่ง ณ อาสนะที่ท่านพระราหุลแต่งตั้ง ณ ควงไม้แห่งหนึ่งแม้ท่านพระราหุลก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

พอนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

จักษุ เที่ยงหรือไม่เที่ยง

รูป ...จักษุวิญญาณ...จักษุสัมผัส ...โสตะ ...ฆานะ ...ชิวหา ...กาย...มโน...

ธรรมารมณ์ ...มโนวิญญาณ ...มโนสัมผัส เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ

เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ ที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ

พระราหุล ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาค ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ฯ

พระราหุล เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาค ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่
จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรานั่นเรา นั่นอัตตาของเรา ฯ

พระราหุล ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาค ดูกรราหุล อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ...แม้ในรูป ...แม้ในจักษุวิญญาณ...แม้ในจักษุสัมผัส

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น ฯ

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตะ ...แม้ในเสียง ...แม้ในฆานะ แม้ในกลิ่น

แม้ในชิวหา...แม้ในรส ...แม้ในกาย...แม้ในโผฏฐัพพะ ...แม้ในมโน ...แม้ในธรรมารมณ์

แม้ในมโนวิญญาณ...แม้ในมโนสัมผัส

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น ฯ

เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า
หลุดพ้นแล้วและทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว จิตของท่านพระราหุลหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ถือมั่น และเทวดาหลายพันตนนั้นได้เกิดดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีหมดมลทินว่า


สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ฯ
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: