วิปัสสนาญาณ ๙ เกิดแต่ฌาน
๑. อุทยัพพยญาณ
ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับ
๒. ภังคญาณ
ปรีชาคำนึงเห็นแต่ความดับของสังขาร
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ
ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
๔. อาทีนวญาณ
ปรีชาคำนึงเห็นโทษของสังขาร
๕. นิพพิทาญาณ
ปรีชาคำนึงถึงด้วยเบื่อหน่ายในสังขาร
๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ
ปรีชาคำนึงด้วยใคร่จะพ้นเสียจากสังขาร
๗. ปฏิสังขาญาณ
ปรีชาคำนึงด้วยพิจารณาหาทาง
๘. สังขารุเปกขาญาณ
ปรีชาคำนึงด้วยวางเฉยในสังขาร
๙. สัจจานุโลมิกญาณ
ปรีชาหยั่งรู้โดยสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ญาน๑๖ หรือโสฬสญาณ และวิปัสสนาญาณ๙)
ในวิปัสสนาญาณ ๙ นี้ ๘ ข้อเบื้องต้นมิได้เกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรทั้งหมด และเมื่อเกิดก็ไม่เกิดขึ้นตามลำดับดังตัวเลขที่เรียงไว้นั้น อาจเกิดขึ้นเฉพาะญาณใดญาณหนึ่งก็ได้ และแล้วก็เข้าถึงญาณที่ ๙ เลย เพราะญาณทั้ง ๙ นี้เกิดแต่ฌานโดยตรง ๘ ข้อเบื้องต้นมิได้มีคุณพิเศษยิ่งหย่อนกว่ากัน ต่างก็มีฌานเป็นภูมิฐาน ไม่ได้ใช้ไตรลักษณญาณเป็นเครื่องพิจารณา เพ่งเห็นแต่หน้าเดียวตามวิสัยของฌานโดยเฉพาะ
อนึ่ง ของมากอย่างจะนับอะไรเป็นต้นขึ้นหนึ่งก่อนก็ได้ไม่มีปัญหา ส่วนข้อสุดท้ายเป็นเพียงมีคุณพิเศษสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจเท่านั้น แต่วิปัสสนาญาณนี้ ถ้าฌานที่เป็นรากฐานกล้ามากก็อาจให้เกิดวิปลาสไปได้ง่ายด้วย พึงเข้าใจว่าถ้าเป็นปัญญาวิปัสสนาเกิดแต่สมาธิแล้ว ก็ต้องขึ้นสู่ไตรลักษณะ เอาไตรลักษณะเป็นอารมณ์ทีเดียว
วิสุทธิ ๗ เกิดแต่สมาธิ
๑. สีลวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งศีล
๒. จิตตวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งจิต
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งทิฏฐิ
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย
๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งญาณหยั่งเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งญาณหยั่งเห็นทางปฏิบัติ
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ
ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ
วิสุทธิ ๗ นี้จะเกิดได้ต้องอาศัยสมาธิเป็นหลักก่อน ถ้าหาไม่ก็จะไม่เกิดเลย วิสุทธิข้อต้น คือ ศีล ถ้าสมาธิไม่เป็นหลักยืนตัวอยู่แล้ว จะเป็นศีลวิสุทธิไม่ได้ วิสุทธิ ๗ นี้เหมือนกับวิปัสสนาญาณ ๙ เมื่อจะเกิดหาได้เกิดขึ้นตามลำดับไม่ อาจเกิดวิสุทธิข้อใดข้อหนึ่งก่อนก็ได้ และแล้วจะเกี่ยวเนื่องกันไปทั้ง ๗ เหมือนลูกโซ่ เพราะวิสุทธิทั้ง ๗ จัดเข้าขั้นมรรค เป็นโลกุตตระ แต่ถ้าสมาธิอ่อน จิตก็จะน้อมเข้าไปหาฌาน ซึ่งเป็นอุปกิเลสแห่งวิปัสสนา ๑๐ อาจเกิดขึ้นในระหว่างวิสุทธิใดวิสุทธิหนึ่งได้ เมื่อเป็นอย่างนั้น ปัญญาวิปัสสนาก็จะพิจารณาไตรลักษณะไม่ได้ และจิตก็จะเข้ายึดเอาอารมณ์ของอุปกิเลสนั้นต่อไป
อุปกิเลส ๑๐ คือ โอภาส แสงสว่าง ญาณ ความรู้สิ่งต่างๆ ปีติ ความอิ่มใจ ปัสสัทธิ ความสงบสงัดจากอารมณ์ภายนอก สุข ความสุข อธิโมกข์ น้อมใจเชื่อในนิมิตและเหตุนั้นๆ ปัคคาหะ เพียรกล้า อุปัฏฐาน มีสติแข็งแกร่ง อุเบกขา จิตเป็นกลางวางเฉย และ นิกันติ ยินดีชอบใจ อุปกิเลสทั้ง ๑๐ นี้ย่อมเป็นอุปสรรคของพระโยคาวจร ผู้กำลังเดินมรรคอยู่
โทษของอุปกิเลส ๑๐
ลักษณะอาการและการละกิเลส เป็นต้น ของฌานและสมาธิ ผิดกันดังแสดงมา ฌานมีความน้อมเชื่อมาก วิริยะและปีติแรง กำลังใจกล้า โลดโผนทุกๆ อย่าง สรุปแล้ว เมื่อจิตน้อมไปตามอารมณ์ของฌาน ถ้าผู้ติดฌานหลงฌานอย่างหนักหน่วงแล้ว จิตของตนแทบจะไม่เป็นตัวของตัวเองเสียเลยก็ว่าได้ ที่จริงฌานเมื่อเกิดขึ้นเป็นของน่าตื่นเต้น ผู้ฝึกหัดใหม่จึงชอบนัก แต่ฌานเป็นของได้ง่ายพลันหาย เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของโลกธรรม ๘ ส่วนสมาธิเมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นไปอย่างเรียบๆ เพราะมีสติรอบคอบตามภูมิของตน และยึดเอาไตรลักษณะเป็นอารมณ์(webmaster - หมายถึง จิตตั้งมั่นแล้วพิจารณาอยู่ในธรรมดังพระไตรลักษณ์ได้อย่างแนบแน่น) ไม่หลงลืมตัว ค่อยได้ค่อยเป็นไปละเอียดลงโดยลำดับ ได้แล้วไม่ค่อยเสื่อมเป็นโลกุตตรธรรม บางคนจะไม่รู้สึกตื่นเต้นในเมื่อตนได้สมาธิ เพราะไม่ได้คำนึงถึงอาการที่ตนได้มี แต่ตั้งหน้าจะทำสมาธินั้นให้มั่นและละเอียดถ่ายเดียว ฌานเป็นของน่าสนุกสนาน มีเครื่องเล่นมาก มีเรื่องแปลกๆ ทำให้ผู้ไม่รู้เท่าตามความเป็นจริงหลงติดจมอยู่ในฌาน อาการที่จิตหลงติดจมอยู่นั้นคือโทษ ของอุปกิเลส ๑๐ พึงสังเกตต่อไป
[webmaster - สมาธิและฌานต่างเป็นอาการของจิตหรือเจตสิกอย่างหนึ่ง จึงคล้ายดั่งการกำมือและการแบมือ ต่างล้วนเป็นอาการหรือกริยาของ"มือ"ที่แปรเปลี่ยนไปได้ ดังนั้นจึงควรทำความรู้จักไว้ทั้งสอง เพราะย่อมต้องมีกริยาของการแบมือบ้าง,กำมือบ้างเป็นธรรมดา กล่าวคือบางครั้ง, บางสถานการณ์จึงมีการสลับเปลี่ยนกันบ้างโดยธรรมคือธรรมชาติได้เป็นธรรมดา
ส่วน สมาธินั้น ถ้าไม่เป็นสัมมาสมาธิ คือไม่ได้นำไปพิจารณาธรรมให้เกิดปัญญาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็จะเกิดอุปกิเลสเช่นกัน มักติดในความสงบ(ปัสสัทธิ) ติดแช่นิ่ง(อุเบกขา) ]
โอภาส แสงสว่างย่อมปรากฏในมโนทวารวิถี ขณะเมื่อจิตเข้าถึงฌาน (ภวังค์) เมื่อจิตน้อมเชื่อไปตามแสงสว่าง และแสงสว่างนั้นก็ขยายวงกว้างออกไป มีอาการแปลกๆ ต่างๆ เหลือที่จะพรรณา
ญาณ ความรู้สิ่งต่างๆ บางทีจนกำหนดตามไม่ทัน ไม่ทราบว่ารู้อะไรบ้าง ทั้งสิ่งที่เคยรู้เคยเห็น ทั้งสิ่งที่ไม่เคยรู้เคยเห็น มิใช่รู้อยู่กับสิ่งที่รู้ ยังสอดส่ายไปตามอาการตลอดถึงคนอื่น สัตว์อื่น ทีแรกจริงบ้างไม่จริงบ้าง นานๆ เข้าก็เหลว
ปีติ ทำให้อิ่มใจจนลืมตัว
ปัสสัทธิ ทำให้สงบจากอารมณ์ภายนอก กลับเข้ามายุ่งอยู่กับอารมณ์ภายในจนไม่เป็นอันกินอันนอน เมื่อเป็นอย่างนี้นานเข้า ธาตุย่อมกำเริบ จิตก็ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ
สุข ทำให้สบายอยู่ด้วยอาการทั้งหลายดังกล่าวมา ถึงกับไม่ต้องรับประทานข้าวน้ำก็มี
อธิโมกข์ ทำให้เกิดจิตน้อมเชื่อไปในนิมิตและแสงสว่าง ความรู้มีมากเท่าไร อุปกิเลสทั้ง ๑๐ ก็ยิ่งมีกำลังรุนแรงทวีขึ้น
ปัคคาหะ ทำให้เพียรกล้าไม่หยุดหย่อนท้อถอย มีญาณความรู้คอยกระซิบตักเตือนให้ทำอยู่เสมอ
อุปัฏฐาน ช่วยให้สติแข็งแกร่งอยู่เฉพาะในอารมณ์นั้น แต่ขาดสัมปชัญญะ ไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร
ถ้าอุปกิเลสทั้ง ๘ ตัวดังกล่าวมาหรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่งยังเกิดมีอยู่ อุเบกขา(ในวิปัสสนูปกิเลส)ก็จะไม่เกิด ถ้าทั้ง ๘ นั้นสงบลงแม้ชั่วขณะหนึ่ง อุเบกขา และ นิกันติ จึงจะเกิดขึ้น
อุปกิเลส ๑๐ นี้มิใช่จะเป็นโทษแก่วิปัสสนาเท่านั้น ยังสามารถทำให้เกิดวิปลาสต่างๆ จนต้องเสียผู้เสียคนไปก็ได้ เรื่องทั้งนี้เคยมีมาแล้วในอดีต หากอาจารย์ผู้สอนไม่เข้าใจ มุ่งส่งเสริมศิษย์ให้ยึดเอาเป็นของจริงแล้วก็จะทำให้ศิษย์เสียจนแก้ไม่ตก เมื่อมีเรื่องวิปลาสเกิดขึ้นเช่นนั้น ผู้รู้เท่าและเคยผ่านมาแล้วจึงจะแก้ได้
วิธีแก้วิปลาส
อาจารย์ผู้สอนก็ดี ลูกศิษย์ผู้เจริญภาวนาก็ดี เมื่อเข้าใจวิถีจิตที่เข้าเป็นฌานแล้ว จงระวังอุปกิเลส ๑๐ จะเกิดขึ้น ถ้าจิตเข้าถึงฌานแล้ว อุปกิเลสไม่ทั้งหมดก็อย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องเกิดขึ้นสำหรับนิสัยของบางคน แต่บางคนก็ไม่มีเลย (webmaster - หมายถึง มากหรือน้อยเกี่ยวเนื่องกับการวิปัสสนาและึความเพียร) ถ้ามันเกิดขึ้นเราควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑. เมื่ออุปกิเลสเกิดขึ้นแล้ว พึงทำความรู้เท่าว่า นี่เป็นอุปกิเลสเป็นอุปสรรคแก่วิปัสสนาปัญญา และอุปกิเลสนี้เกิดจากฌานหาใช่อริยมรรคไม่ ถึงแม้วิปัสสนาญาณ ๙ แปดข้อเบื้องต้นก็เช่นเดียวกัน อย่าได้น้อมจิตส่งไปตามด้วยเข้าใจว่าเป็นของจริงของแท้ พึงเข้าใจว่านั่นเป็นแต่เพียงภาพอันเกิดจากมโนสังขาร คือจิตปรุงแต่งขึ้นด้วยอำนาจของฌานเท่านั้น พึงหยิบยกเอาพระไตรลักษณญาณขึ้นมาตัดสินว่า อุปกิเลสทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะฌาน ฌานก็เป็นโลกิยะ อุปกิเลสก็เป็นโลกิยะ โลกิยะทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ถาวรนั้นแหละเป็นทุกข์ เพราะทนต่อความเที่ยงแท้ถาวรไม่ได้ แล้วก็แตกสลายดับไปตามสภาพของมันเอง ซึ่งไม่มีใครจะมีอำนาจห้ามปรามไม่ให้มันเป็นเช่นนั้นได้ ซึ่งเรียกว่า อนัตตา เมื่อยกเอาพระไตรลักษณญาณขึ้นมาตัดสิน ถ้าจิตเกิดปัญญาน้อมลงเห็นตามพระไตรลักษณะแล้ว จิตก็จะถอนออกจากอุปาทานที่เข้าไปยึดอุปกิเลสนั้น แล้วจะเกิดปัญญาญาณเดินตามทางอริยมรรคได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าแก้อย่างนั้นด้วยตนเองไม่ได้ผล คนอื่นช่วยแก้ก็ไม่สำเร็จ เพราะผู้เป็นหลงเข้าไปยึดมั่นสำคัญเอาเป็นจริงเป็นจังเสียแล้ว บางทีจนทำให้ซึมเซ่อมึนงงไปหมดก็ดี จึงควรใช้วิธีที่ ๓ วิธีสุดท้าย
๒. เมื่อรู้เท่าทันและเห็นโทษอย่างนั้นแล้ว จงคอยระวังจิตอย่าให้จิตน้อมเข้าสู่ความสุขเอกัคคตารวมเป็นหนึ่งได้ และอย่ายึดเอาอารมณ์ใดๆ อันเป็นความสุขภายในของใจ แล้วจงเปลี่ยนอิริยาบถ ๔ ให้เสมอ อย่ารวมอินทรีย์อันเป็นเหตุจะให้จิตรวม(เป็นสมาธิหรือฌานได้ - webmaster) แต่ให้มีการงานทำเพื่อให้มันลืมอารมณ์ความสุขสงบเสีย (แต่ไม่ควรเป็นแบบซ้ำซ้อนและต่อเนื่อง - webmaster) แต่ถ้าจิตรวมลงไปจนเกิดวิปลาสขึ้นแล้ว จิตเข้าไปยึดถือจนแน่นแฟ้นจนสำคัญตัวว่าเป็นผู้วิเศษไปต่างๆ นานา มีทิฐิถือรั้นไม่ยอมฟังเสียงใครๆ ทั้งหมด เมื่อถึงขั้นนี้แล้วก็ยากที่จะแก้ตัวเองได้ ถึงแม้อาจารย์หากไม่ชำนาญรู้จักปมด้อยของศิษย์ หรือไม่เคยผ่านเช่นนั้นมาก่อนแล้ว ก็ยากที่จะแก้เขาได้ ฉะนั้น จึงควรใช้ ...
วิธีที่ ๓ วิธีสุดท้าย คือใช้วิธีขู่ขนาบให้กลัวหรือให้เกิดความโกรธอย่างสุดขีดเอาจนตั้งตัวไม่ติดยิ่งดี แต่ให้ระวังอย่าให้หนีได้ ถ้าหนีไปแล้วจะไม่มีหนทางแก้ไขเลย เมื่อหายจากวิปลาสแล้วจึงทำความเข้าใจกันใหม่ วิธีสุดท้ายนี้ โดยมากมักใช้กับผู้ที่ติดในภาพนิมิตได้ผลดีเลิศ
ผู้ที่หลงติดในภาพนิมิต มีหัวรุนแรงกว่าความเห็นวิปลาส ฉะนั้น วิธีแก้จึงไม่ค่อยผิดแผกกันนัก (webmaster - เพราะนิมิตประกอบด้วยอัตตาความเป็นกูของกู คือ กูเป็นผู้เห็นหรือกูเข้าใจ(แบบมิจฉาญาณ)ในสิ่งเกิดขึ้นด้วยตัวของตนเอง จึงน้อมเชื่อด้วยอธิโมกข์อย่างรุนแรงกว่า)
ผนวก
หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อสรุปแล้วมี ๓ คือ สอนให้ละบาป ๑ สอนให้บำเพ็ญกุศล ๑ สอนให้ชำระใจของตนให้สะอาดผ่องแผ้วบริสุทธิ์ ๑ และวางแนวการสอนให้เข้าถึงหลัก ๓ นั้น ๕ ประการ ซึ่งล้วนแต่เป็นการสอนให้เป็นผู้ยอมสละทั้งวัตถุและกิเลส อันเป็นเหตุทำให้สัตว์และมนุษย์เดือดร้อนอยู่เป็นนิตยกาล
การเจริญฌานและสมาธิ แม้จะเดินทางสายเดียวกัน แต่เวลาถึงย่อมมีลักษณะอาการและประโยชน์ต่างกัน นั่นก็เป็นการฝึกหัดให้เป็นผู้มีจิตยอมสละ สิ่งอันสละได้ยากยิ่ง ก็คือ อุปาทานขันธ์ ดังนั้น การฝึกหัดจะใช้กรรมฐานใดๆ มาเป็นอุบายฝึกหัด เป็นต้นว่า อนุสติ ๑๐ อสุภ ๑๐ ถ้าปล่อยวาง อุปาทานขันธ์ ทั้งภายนอกและภายในได้แล้วก็ใช้ได้ ถ้าปล่อยไม่ได้ก็เป็นโมฆะคือไร้ผล
พระศาสดาได้เสด็จอุบัติขึ้นในภพในขันธ์ และสาวกก็เช่นนั้นเหมือนกัน แต่คำสอนของพระองค์สอนให้ละภพละขันธ์อันเป็นโลกิยะจนเข้าถึงโลกุตตระ ดังนั้นธรรมอุบายที่จะให้ละจึงมีทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ แม้ปัญญาซึ่งเกิดแต่การฝึกหัดนั้นก็มีทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระเหมือนกัน จึงเป็นการยากแก่ผู้ที่มีภูมิ (คือฌานและสมาธิ) ไม่เพียงพอ ปัญญาไม่ละเอียดพอ จะเฟ้นเอาสาระประโยชน์จากชีวิตอันนี้ได้ ถ้าหลงเข้าใจผิดยึดเอาสิ่งที่มิใช่สาระว่าเป็นสาระแล้ว ก็ลงเอวังกันเลย
ผู้ปฏิบัติพึงระลึกเสมอว่า ภพกายหลงง่ายละยาก ภพจิตหลงยากละยาก นิมิตและญาณที่เกิดแต่ฌานก็หลงง่ายละยาก แต่ที่เกิดแต่สมาธิหลงยากละง่าย เพราะเกิดแต่สมาธิเป็นอุบายของปัญญาเพื่อให้ละถอนอุปธิเข้าถึงสารธรรมโดยตรง
ขอขอบคุณข้อมูลคุณพิม จาก
http://www.geocities.com/Tokyo/Gulf/4126/tesk0003.html