พระอานนท์ได้นำข่าวดีมาบอกแก่พระนางปชาบดีโคตมีว่าสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้
พระนางประชาบดีโคตมี เป็นหญิงคนแรกที่ออกบวชตามพระพุทธเจ้า เกิดข้อปฏิบัติที่สำคัญอะไรขึ้นสำหรับหญิงที่จะออกบวช ใครคือผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือให้เกิดการบวชภิกษุณีได้
ส่วนพระนางมหาปชาบดี มีพระทัยน้อมไปในบรรพชา จึงเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดายังนิโครธาราม ทูลขอบรรพชา พระศาสดาไม่ทรงอนุญาต แม้พระนางเจ้าจะทูลวอนขอถึงสามครั้ง ก็ไม่สมพระประสงค์ ทรงโทมนัส ทรงพระกรรแสง เสด็จกลับพระนิเวศน์
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จกลับไปประทับยังกุฎคารศาลา ป่ามหาวัน ณ พระนครไพศาลีแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยนางกษัตริย์ศากยราชวงค์เป็นอันมาก ที่ยินดีในการบรรพชา ปลงพระเกศา นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ พากันเสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ ไปเมืองไพศาลีด้วยพระบาท ตั้งพระทัยขอประทานบรรพชา ทรงดำเนินไปจนกระถึงกุฎาคารศาลา ประทับยืนกรรแสงอยู่ที่ซุ้มประตูกุฎาคารศาลา ที่พระบรมศาสดาประทับนั้น
ขณะนั้น พระอานนท์ออกมาพบไต่ถาม ทราบความแล้ว ก็รับเป็นภาระนำความกราบทูลขอประทานอุปสมบท ให้พระนางมหาชาบดี
ในครั้งแรก พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต ตรัสว่า สตรีไม่ควรอุปสมบท
ภายหลังพระอานนท์ทูลถามว่า หากสตรีบวชแล้ว จะสามารถปฎิบัติธรรมได้บรรลุอริยมรรค อริผล โดยควรแก่อุปนิสสัยหรือไม่?
เมื่อพระศาสดาตรัสว่า “สามารถ”
พระอานนท์ก็กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้น ขอได้ทรงพระกรุณาประทานโอกาสให้พระเจ้าน้า ได้ทรงอุปสมบทเถิด
ทรงรับสั่งว่า
“อานนท์ ผิวะพระนางมหาปชาบดีโคตมี จะทรงรับปฏิบัติครุธรรม ๘ ได้บริบูรณ์ ตถาคตก็อนุญาตให้ได้”
“อานนท์ ครุธรรม ๘ ประการนั้น ดังนี้
๑. ภิกษุณีแม้จะบวชได้ 100 พรรษา ก็พึงให้ทำอัญชลี เคารพนบนอบภิกษุ แม้บวชในวันเดียวนั้น
๒. ภิกษุณีอย่าอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
๓. ภิกษุณี จะต้องทำอุโบสถกรรม และรับโอวาท แต่สำนักสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้ว ให้พึงปวารณาในสำนักอุภโตสงฆ์
๕. ภิกษุณี หากต้องอยู่ปริวาสกรรม พึงประพฤติปักขมานัต (คืออยู่มานัตถึงกึ่งเดือน) ในสำนักอุภโตสงฆ์
๖. ภิกษุณี อุปสมบทในสำนักอุภโตสงฆ์ พึงสมาทานซึ่งวัตรปฎิบัติในธรรม ๖ ประการ คือ เว้นจากปาณาติบาต ถึงวิกาลโภชนะ เป็นต้น มิให้ล่วง และศึกษาให้รู้วัตรปฎิบัติต่าง ๆ สิ้นกาลถึงพรรษาเต็ม
๗. ภิกษุณี อย่าพึงด่าบริภาษภิกษุสงฆ์ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง
๘. ภิกษุณี นับแต่วันบรรพชาเป็นต้นไป พึงสดับรับโอวาทของภิกษุกล่าวสั่งสอนฝ่ายเดียว ห้ามโอวาทสั่งสอนภิกษุ ฯ
พระอานนท์เถระ เรียนจำครุธรรม ๘ ประการนั้น จากพระบรมศาสดาแล้ว ก็ออกมาแจ้งพระพุทธบัญชานั้นแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางเจ้าทรงน้อมรับที่จะปฏิบัติด้วยความยินดีทุกประการ พระอานนท์ก็เข้ามากราบทูลพระบรมศาสดาให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงโปรดประทานบรรพชาอุปสมบทแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี กับศากยะขัตติยนารีด้วยกันทั้งสิ้น
ครั้นออกพระวัสสา ปวารณาแล้ว พระบรมศาสดากับทั้งพระสงฆ์สาวกทั้งหลายก็เสด็จจากเมืองไพศาลี ไปพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร ฝ่ายข้างพระนครกบิลพัสดุ์ เมื่อพระนางเจ้ามหาปชาบดีโคตมี ทรงผนวชแล้ว บรรดามหาอำมาตย์และราชปุโรหิตทั้งหลาย ได้ประชุมพร้อมกันยก “เจ้าศากยะมหานาม” โอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอมิโตทนะ พระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เสวยราชสมบัติสืบราชสันติวงศ์
ต่อมา พระนางพิมพาเทวี มารดาราหุลกุมาร ก็เข้าเฝ้าพระเจ้ามหานาม ทูลลาออกบรรพชา แล้วทรงพาบรรดาขัตติยนารีทั้งหลาย เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่พระเชตวันวิหาร ทูลขอประทานบรรพชาอุปสมบท สมเด็จพระบรมสุคตก็ทรงประทานบรรพชาอุปสมบทแก่พระนางเจ้า และบรรดาขัตติยนารีทั้งสิ้น ด้วยครุธรรม ๘ ประการนั้น
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก :
http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/buddhist78.htm