หลวงพ่อชานี้บรรลุธรรมขั้นไหนแล้วหนอ ?
หลวงพ่อชานี้บรรลุธรรมขั้นไหนแล้วหนอ ?
หลังจากทำวัตรเย็นเสร็จแล้วยังไม่กลับกุฏิ พวกเราจึงสนทนากันตอนหนึ่ง ข้าพเจ้า(พระมหาอมร)ถามขึ้นว่า
“พวกเราอยากจะทราบกันไหมว่า หลวงพ่อบรรลุธรรมชั้นไหน ? ”
เพื่อนที่ร่วมวงสนทนาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อยากทราบ”
พระรูปหนึ่งเสนอขึ้นว่า “พวกเราไปกราบเรียนถามหลวงพ่อดีไหม ? ”
อีกรูปพูดว่า “ดีเหมือนกัน แต่ใครล่ะจะกล้า”
พระรูปหนึ่งเสนอว่า “ท่านมหานั่นแหละเหมาะสม เพราะพูดเก่งอยู่แล้ว คงจะพอรู้จักทางหนีทีไล่บ้าง “
ข้าพเจ้าตอบว่า “ผมก็ไม่กล้าเหมือนกันแหละ เพราะมาอยู่วัดหนองป่าพงยังไม่นาน
ผมโดนท่านปรามเอาเสียเกือบแย่ ตั้งแต่มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ชั่วโมงแรกแล้ว”
เมื่อได้เวลาพอสมควร พวกเราต่างก็แยกย้ายกันกลับกุฏิ บรรดาเพื่อนร่วมวงสนทนาต่างก็พก
เอาคำถามนั้นไปเป็นการบ้าน แม้พวกเราจะขี้สงสัยแต่ก็ยังทำกิจวัตรต่างๆ ทั้งทำวัตรสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิมิได้ขาด
ในวันต่อมา หลังจากที่พวกเราทำกิจวัตรตอนบ่ายเสร็จแล้ว ถ้าใครอยากกลับกุฏิเพื่อบำเพ็ญเพียรก็กลับได้
แต่ถ้าใครใคร่จะฟังโอวาทพิเศษก็พากันไปกราบหลวงพ่อที่ใต้ถุนกุฏิของท่าน วันนั้นคณะผู้สงสัย ๔-๕ รูป
ก็พากันไปครบทีม แต่ดูเหมือนพวกเราวางความสงสัยไว้ก่อนแล้ว
ตามปกติหลวงพ่อจะใช้กุฏิชั้นล่างเป็นที่ต้อนรับให้โอวาท ให้ธรรมะแก่ญาติโยมและศิษย์ทั้งหลายที่ไปกราบเยี่ยมท่าน
วันนั้นมีพระอยู่กว่า ๑๐ รูป เมื่อกราบท่านเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ปรารภเรื่องนั้นนิดเรื่องนี้หน่อย พอเป็นข้อคิดให้เราได้สติในการปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อชาท่านชำเลืองดูไก่ป่า ๒-๓ ตัวซึ่งออกมาคุ้ยเขี่ยหากินอยู่ใกล้กุฏิ แล้วพูดขึ้นว่า
“ดูไก่ป่านั่นสิ มันเป็นสัตว์ที่มีความว่องไว คล่องตัว ระวังภัย กินไม่จุ ถ้ามันรู้ว่าจะมีอันตราย แม้จะกำลังกินอาหารอยู่ มันจะรีบบินหนีทันที มันรู้จักระมัดระวังรักษาตัวดี บินได้สูง เวลานอนก็อาศัยกิ่งไม้ยอดไม้เป็นที่นอนและแยกกันนอน ต่างจากไก่บ้าน กินจุ ไม่คล่องตัว น้ำหนักก็มาก บินได้ไม่สูง ขาดความระมัดระวัง มีคนเอามาปล่อยไว้ แต่ผลสุดท้ายก็ถูกหมากัดตาย เพราะมันเคยอยู่กินสบายๆ
มีคนคอยเอาใจใส่ดูแลจึงเกิดความประมาท
ส่วนไก่ป่านั้นระวังภัยและช่วยตัวเองทุกอย่าง มันทำงานตามหน้าที่ รักษาเวลาได้ดี ไม่ว่าแดดจะออก
ฝนจะตก หรือหนาวแสนหนาว ถึงคราวขัน มันก็ขันเป็นระยะๆ ตามเวลา
เรายังได้อาศัยเสียงขันของมันเป็นนาฬิกาปลุกเสมอ มันทำงานของมันด้วยความสม่ำเสมอ ไม่เคยเรียกร้องค่าตอบแทนจากใครเลย มันอยู่อย่างสบายตามธรรมชาติ ดูเหมือนจะไม่ยึดหมายอะไร พิจารณาอีกที คล้ายมันมีธรรมะของมันอยู่แล้ว
มันคงไม่คิดมาก ไม่ซอกแซกขี้สงสัยหายเรื่องมายุ่งใจ
พวกเราเป็นนักปฏิบัติก็ควรจะดูไก่ป่า เอาไก่ป่าเป็นครูเป็นอาจารย์เสียบ้าง ไปสงสัยสนใจเรื่องไม่เป็นเรื่อง
พิจารณาดูห่อข้าวของคนอื่น จะมีมากมีน้อยเรื่องของเขา”
พวกเราได้ฟังแล้วถึงกับสะดุ้งนิดๆ มองสบตาอย่างรู้ความหมายไม่ต้องขยายความอีก ต่างก็คิดในใจว่า
“เกือบแล้วไหมล่ะ ถ้ามาถามท่านคงโดน”
หลวงพ่อชาเตือนสติให้พวกเราภาวนา คือ คิดให้ดี พิจารณาให้รอบคอบ ย่อมมีความฉลาด เกิดความเข้าใจถูกต้อง
ท่านมุ่งหวังเตือนสติผู้ปฏิบัติธรรมให้พิจารณาสิ่งที่ทำ คำที่พูด ของตนเอง มิใช้สักแต่พูด สักแต่ว่าทำ
จาก กิ่งก้านแห่งโพธิญาณ เล่าโดยพระมหาอมร เขมจิตโต วัดวิเวกธรรมชาน์ หน้าที่ ๔๘-๕๐