หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ละสังขารอย่างสงบแล้ววันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ที่วัดป่าอรัญญวิเวก เชียงใหม่

หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ละสังขารอย่างสงบแล้ววันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ที่วัดป่าอรัญญวิเวก เชียงใหม่

หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ละสังขารอย่างสงบแล้ววันนี้ เมื่อเวลา ๑๕.๐๓ น. ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
ภายในกุฏิท่าน ณ วัดป่าอรัญญวิเวก บ้านปง ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ สิริอายุ ๘๔ ปี ๒ เดือน ๓๐ วัน พรรษา ๕๙

• กำหนดการพิธีกราบขอขมาและสรงน้ำหลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

วันศุกร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
เวลา ๐๙.๐๐ น. เคลื่อนสรีระสังขารจากกุฏิ ไปที่พระอุโบสถ วัดอรัญญวิเวก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

เวลา ๑๓.๐๐ น. เปิดให้สาธุชนเข้ากราบขอขมาและสรงน้ำสรีระสังขารหลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ที่พระอุโบสถ

• คำกล่าวขอขมาพ่อแม่ครูอาจารย์
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

มหาเถเร ปะมาเทนะ ทวาระตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต
มหาเถเร ปะมาเทนะ ทวาระตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต
มหาเถเร ปะมาเทนะ ทวาระตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต

กรรมใดที่ลูกได้เคยประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อองค์หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญปทีโป ด้วยกายกรรม ด้วยวจีกรรม และด้วยมโนกรรม
ที่ระลึกได้ก็ดี ระลึกไม่ได้ก็ดี ด้วยความขาดสติรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา ขอองค์หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
ได้โปรดเมตตางดโทษล่วงเกินนั้นให้แก่ลูกหลานด้วยเทอญ

• •••• • •••• • •••• • •••• • •••• • •••• • •••• •

ชีวประวัติปฏิปทาของหลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
“พระอริยสงฆ์ผู้มีปัญญาเปรียบดั่งดวงประทีป”

…กว่าที่หลวงปู่เปลี่ยนท่านจะได้มาเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ท่านต้องฝ่าฟันอะไรมามากมายนัก
ไม่ใช่แค่ตอนบวชศึกษาธรรมกับพ่อแม่ครูอาจารย์หรือตอนเที่ยววิเวกออกธุดงค์เท่านั้น แต่สำหรับท่านยากเย็นตั้งแต่ก่อนจะได้บวช
เป็นพระเลยทีเดียว จากประวัติของท่านมีบันทึกไว้ว่า…

…เมื่อวันพฤหัสบดี ปีระกา ตรงกับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ ณ บ้านโคกคอน ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
คุณพ่อกิ่ง-คุณแม่อรดี วงษาจันทร์ ซึ่งประกอบอาชีพค้าขาย ได้ให้กำเนิดทารกน้อยเพศชายคนที่ ๓ ชื่อว่า เด็กชายเปลี่ยน วงษาจันทร์
และด้วยความคุณตาและคุณยายรักหลายชายคนนี้มาก เด็กชายเปลี่ยนจึงถูกรับตัวมาเลี้ยงดูตั้งแต่เล็ก

เส้นทางชีวิตของท่านที่ดูเหมือนจะถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องก้าวเข้าสู่พระพุทธศาสนานั้น เริ่มต้นตั้งแต่ในวัยเด็กช่วงอายุประมาณ ๑๑-๑๒ ปี
เพราะคราวใดที่ทางบ้านของท่านมีงานบุญ เด็กชายเปลี่ยนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการไปรับพระที่วัด
ทำให้เด็กชายเปลี่ยนได้เห็นวิธีการเดินจงกลมของพระอาจารย์ลี วัดป่าบ้านตาล รวมไปถึงหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ
ที่ได้เดินจงกรมให้ดูและสอนให้ท่านเดิน

ด้วยวาสนาบุญบารมีที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวนี้เอง ธรรมะจึงจัดสรรให้ท่านได้มีโอกาสคุ้นเคยและศึกษาธรรมะกับพระสงฆ์ที่บวชอยู่กับหลวงปู่พรหม
จนท่านเกิดความศรัทธาคิดที่จะบวชอยู่ตลอดเวลา แต่ติดขัดปัญหาตรงที่บิดามารดาของท่าน ต้องการให้ท่านเป็นพ่อค้าซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว

อายุ ๑๕ ปี ท่านขออนุญาตมารดาท่านบวชเณรแต่ถูกปฏิเสธ อายุ ๑๘ ปี ท่านขออนุญาตบวชเณรอีกครั้ง แจ่ก็ถูกปฏิเสธเช่นเคย
อายุ ๒๐ ปี ท่านขออนุญาตบวชพระก็ถูกปฏิเสธเช่นเคย อายุ ๒๒ ปี บิดาท่านเสียชีวิต ท่านจึงใช้เป็นเหตุผลขอบวชทดแทนคุณแต่
มารดาท่านก็ปฏิเสธเสียงแข็งเช่นเคย พอท่านอายุ ๒๕ ปี คุณลุงของท่านได้เสียชีวิตลง ท่านจึงขออนุญาตมารดา
เพื่อบวชอุทิศส่วนบุญให้กับผู้มีพระคุณทั้งสอง หลังจากเฝ้าเพียรพยายามขออนุญาตออกบวชอยู่นานหลายปี
แสงสว่างปลายอุโมงค์ก็เริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อท่านได้รับอนุญาตจากผู้เป็นมารดาให้บวชเพียง ๗ วัน
เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๐๒ ณ วัดพระธาตุมีชัย ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
โดยมีพระครูอดุลย์สังฆกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า “ปัญญาปทีโป” “ผู้มีปัญญาเป็นดวงประทีปนำทาง”

ถ้าความต้องการของชีวิตคือการทำตามใจผู้ให้กำเนิดแล้ว พระอาจารย์เปลี่ยนในวันนี้ อาจเป็นเพียงผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่ประกอบอาชีพทางการค้าตามความต้องการของบิดามารดา แต่เพราะความต้องการในชีวิตของท่านคือการละกิเลสออกไปให้หมด
ซึ่งการที่จะละกิเลสออกไปให้หมดได้นั้นต้องอาศัยการเสียสละอย่างใหญ่หลวงรวมถึงการกระทำความเพียรที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วย

ท่านเล่าว่าเมื่อได้บวช ชีวิตของท่านเหมือนติดปีกเบาสบายเพราะได้ปลดเปลื้องภาระความรับผิดชอบของครอบครัวที่ท่าน
ต้องแบกรับมาตั้งแต่เด็กๆ เช่น การรับผิดชอบเงินทองของตนเองและผู้อื่น
ความกังวลใจในกิจการค้าขายของครอบครัว การดูแลรักษาไร่นา ฯลฯ

อีกทั้งการเจริญสมาธิปฏิบัติภาวนาก็ทำให้ท่านมีความสุขเป็นอันมาก จนเมื่อครบกำหนด ๗ วัน ท่านจึงต่อรองกับมารดา
ขออยู่ต่อให้ครบพรรษา ซึ่งการต่อรองของท่านที่ขอบวชต่อนี้ได้สร้างความผิดหวังให้กับมารดาของท่านมาก

ท่านว่าในขณะที่ใครบางคนคิดว่าการเจริญเติบโตในพระพุทธศาสนาของท่านถูกรดด้วยน้ำตาของผู้เป็นมารดา
หากแต่สำหรับท่านแล้ว น้ำตาของผู้เป็นมารดากับเป็นดั่งกำลังใจให้ท่านได้เพียรพยายามเจริญภาวนา
พร้อมกับระลึกถึงพระคุณของบิดามารดา ระลึกถึงคุณงามความดีที่ได้เลี้ยงดูให้ท่านได้เติบโต
จนสามารถค้นพบหนทางแห่งการล่วงพ้นจากความทุกข์

“พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า วิริเย ทุกขมัจเจติ คนจะก้าวล่วงทุกข์ไปได้เพราะความพากเพียร
การจะมีความเพียรอยู่ตลอดต้องมีอิทธิบาท ๔ เป็นหลัก

คือ ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ ความพากเพียร จิตตะ ความเอาใจฝักใฝ่ และวิมังสาคือการตรึกตรองดูเหตุผลในการปฏิบัติของตนให้ถูกต้อง”

ท่านเล่าว่าในระหว่างที่ปฏิบัติธรรมนั้น ท่านไม่เคยมีความสงสัยใดๆ ภายในจิตใจเลย เพราะท่านนึกถึงครูบาอาจารย์ นึกถึงพระพุทธเจ้า
นึกถึงบรรดาพระสาวกทั้งหลาย ซึ่งเป็นการระลึกนึกถึงในแง่มุมที่ว่าเมื่อพวกท่านเหล่านั้นปฏิบัติแล้วได้บรรลุถึงที่สุดแห่งกองทุกข์
ท่านว่าท่านได้ยึดเอาเรื่องนี้มาเป็นกำลังใจ มาเป็นเครื่องวัดใจตัวของท่านเองตลอดเวลา

“ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านบวชมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนแก่อายุเข้าไปตั้ง ๗๐-๘๐ ปี ท่านก็ยังอยู่ได้ ท่านต้องมีของดีแน่ๆ
ผู้หญิงบางคนต้องเสียสละทิ้งลูกทิ้งสามีออกมาบำเพ็ญมาบวชจนแก่ เขาก็ต้องมีที่พึ่งของเขา เขามีธรรมะเป็นเครื่องอยู่ของเขา
นั่นแหละเราเอาอันนั้นมาวัด เอามาเป็นกำลังใจ เอามาเป็นเครื่องมืออุ้มชูจิตใจของเรา

มันจะทำให้เราไม่ท้อแท้ ถ้ามัวแต่คิดว่าไม่ไหว ยึดติดบารมีเก่าก็คงจะไม่ไหวเช่นกัน เพราะเรื่องของบารมีเก่ามันก็มีติดตัวกันมาทุกคน
เพียงแต่ว่ามันมีมากมีน้อยต่างกัน ที่พวกโยมมาวัดมานั่งกันอยู่ตรงนี้ก็มีเงินมาทุกคนนั้นแหละ แต่ถามหน่อยว่ามีมาเท่ากันไหม”

อย่างไรก็ตามถึงแม้วาสนาโชคชะตาจะนำพาให้ท่านบวชได้สำเร็จ แต่เส้นทางแห่งการแสวงหาของท่านก็ยังมิได้สิ้นสุด
เพราะความละเอียดอ่อนในเรื่องของธรรม เรื่องของการปฏิบัติ ยังคงเป็นสิ่งที่ท่านปรารถนาอยู่ทุกลมหายใจ

ด้วยเหตุผลนี้เองท่านจึงได้หันหลังให้กับเรื่องราวทางโลกและตัดสินใจสะพายบาตรแบกกลดและอัฐบริขารที่จำเป็นออกเดินธุดงค์
ข้อหนึ่งเพื่อแสวงหาสถานที่สงบเพื่อปฏิบัติกรรมฐาน และอีกข้อหนึ่งคือเป็นการแสวงหาพ่อแม่ครูอาจารย์ดีๆ


ขอบพระคุณข้อมูลจาก พี่เอ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน 

Comments

comments